ทียูเผยไตรมาส 2 ยอดขาย 3.4 หมื่นล้านบาท เคาะจ่ายปันผลระหว่างกาล 0.30 บาท/หุ้น

โชว์กระแสเงินสดแกร่งที่ 3.3 พันล้านบาท พร้อมกำไรจากการดำเนินงานโต 8.2%

กรุงเทพมหานคร – 7 สิงหาคม 2566 – บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) รายงานผลประกอบการประจำไตรมาส 2 ด้วยกำไรจากการดำเนินงานที่ 1,777 ล้านบาท สูงขึ้นจากปีก่อนหน้า 8.2 เปอร์เซ็นต์ พร้อมโชว์ความสามารถรักษาระดับกระแสเงินสดได้อย่างแข็งแกร่งที่ 3,319 ล้านบาท จากกลยุทธ์ในการบริหารเงินทุนหมุนเวียนสุทธิที่ดีขึ้น โดยไทยยูเนี่ยนบันทึกอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ระดับ 16.9 เปอร์เซ็นต์ คงที่เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แม้ว่าราคาวัตถุดิบจะมีการปรับตัวสูงขึ้น

บริษัทได้ประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลที่ 0.30 บาทต่อหุ้น ซึ่งจะจ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในวันที่ 4 กันยายน 2566 เตรียมขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 21 สิงหาคม 2566 และกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับเงินปันผลในวันที่ 22 สิงหาคม 2566

ในไตรมาส 2 ปี 2566 ไทยยูเนี่ยนมียอดขาย 34,057 ล้านบาท ลดลง 12.6 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับยอดขายที่แข็งแกร่งในปีก่อนหน้า เนื่องจากคู่ค้าทั่วโลกยังมีปริมาณสินค้าคงคลังที่ในระดับสูง ประกอบกับการขนส่งสินค้าปรับตัวสู่สภาวะปกติ ส่งผลให้ความต้องการสินค้าชะลอตัวลง กำไรสุทธิอยู่ที่ 1,029 ล้านบาท ลดลง 36.7 เปอร์เซ็นต์ สาเหตุหลักจากการขาดทุนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและส่วนแบ่งกำไรสุทธิจากไอ-เทล คอร์ปอเรชั่นลดลงเป็นผลจากสัดส่วนหุ้นที่ไทยยูเนี่ยนถือครองลดลง

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เราเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวในหลายๆ ตลาดทั่วโลกในครึ่งหลังของปี 2566 และถึงแม้ว่าบริษัทต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ มากมายในช่วงครึ่งปีแรก งบดุลของไทยยูเนี่ยนยังคงแข็งแกร่งต่อเนื่อง ด้วยอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุนของบริษัทอยู่ที่ระดับ 0.64 เท่าในไตรมาส 2 ต่ำกว่าเป้าหมายที่เราตั้งไว้ที่ 1.0 เท่า ส่งผลให้เราสามารถจ่ายปันผลได้ คิดเป็นอัตราจ่ายการปันผลสูงถึง 70.3 เปอร์เซ็นต์ของกำไรสุทธิ”

โดยปกติไตรมาส 2 ของทุกปี ยอดขายจะสูงขึ้นเป็นปกติเนื่องจากเป็นช่วงฤดูร้อน ซึ่งเป็นช่วงที่ยอดขายในยุโรปเติบโตได้ดี มีกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างๆ เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ยอดขายประจำไตรมาส 2 สูงขึ้น 4.3 เปอร์เซ็นต์ และกำไรสุทธิสูงขึ้น 0.7 เปอร์เซ็นต์เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่บริษัทได้คาดการณ์ว่าเป็นไตรมาสที่อ่อนตัวที่สุด รวมถึงกำไรขั้นต้นที่เพิ่มขึ้น 16.9 เปอร์เซ็นต์อยู่ที่ 5,748 ล้านบาท

บรรยายภาพ: สัดส่วนยอดขายแบ่งตามกลุ่มธุรกิจในช่วงครึ่งแรกของปี 2566

นอกจากนี้ ยอดขายจากธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปบรรจุกระป๋องอยู่ที่ 17,136 ล้านบาท เติบโตขึ้น 1.3 เปอร์เซ็นต์ นับเป็นยอดขายประจำไตรมาสที่สูงที่สุดในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา ผลมาจากราคาขายที่สูงขึ้นและกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างๆ โดยเฉพาะในทวีปยุโรป สินค้าแบรนด์ต่างๆ ภายใต้บริษัทยังคงเดินหน้าสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภคในเรื่องสุขภาพอย่างต่อเนื่อง

บรรยายภาพ: สัดส่วนยอดขายของไทยยูเนี่ยนในครึ่งแรกของปี 2566 แบ่งตามภูมิภาคต่างๆ

เรด ล็อบสเตอร์ ธุรกิจร้านอาหารทะเลระดับโลกที่ไทยยูเนี่ยนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ทำผลงานได้ดีขึ้นในไตรมาส 2 หลังจากที่แผนพลิกฟื้นธุรกิจได้ส่งสัญญาณบวก โดยมีส่วนแบ่งขาดทุนจากการดำเนินงานจำนวน 94 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 2 ของปี 2565 ตัวเลขดังกล่าวอยู่ที่ 281 ล้านบาท

“ในช่วงครึ่งปีหลัง ไทยยูเนี่ยนจะเดินหน้าแผนและมาตรการต่างๆ เพื่อเพิ่มระดับความสามารถในการทำกำไร โดยมุ่งบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการดำเนินงาน พร้อมลดต้นทุนในการผลิต เรายังเชื่อมั่นว่าเราจะสามารถทำผลงานได้ดีในระยะยาว และเมื่อเร็วๆ นี้บริษัทได้ประกาศกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน SeaChange® 2030 ที่ตั้งเป้าหมายยาวไปถึงปี 2573 เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนในอุตสาหกรรมอาหารทะเลของโลก โดยเรามีการจัดสรรงบประมาณ 7,200 ล้านบาท เพื่อพลิกโฉมอุตสาหกรรมอาหารทะเลเพื่อผู้คนและโลกของเราอีกด้วย” นายธีรพงศ์กล่าวทิ้งท้าย

###

เกี่ยวกับ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นผู้นำด้านอาหารทะเลระดับโลกที่นำผลิตภัณฑ์อาหารทะเลคุณภาพสูง ดีต่อสุขภาพ อร่อย และสร้างสรรค์ มาสู่ลูกค้าทั่วโลกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520

ปัจจุบัน ไทยยูเนี่ยนถือได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาหารทะเลชั้นนำของโลกและเป็นหนึ่งในผู้ผลิตปลาทูน่าในบรรจุภัณฑ์ชนิดต่างๆ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมียอดขายต่อปีเกินกว่า 155,586 ล้านบาท (4,438 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และแรงงานทั่วโลกกว่า 44,000 คน ที่ทุ่มเทให้กับการบุกเบิกผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่สร้างสรรค์และยั่งยืน

ปัจจุบันไทยยูเนี่ยนเป็นเจ้าของแบรนด์ทั่วโลก ประกอบด้วย แบรนด์ที่เป็นผู้นำตลาดโลกอย่าง Chicken of the Sea, John West, Petit Navire, Parmentier, Mareblu, King Oscar, Hawesta และ Rügen Fisch รวมทั้งแบรนด์ชั้นนำในประเทศไทย ได้แก่ ซีเล็ค ฟิชโช คิวเฟรช โมโนริ OMG MEAT เบลลอตต้า และมาร์โว่ นอกจากนี้ยังมีส่วนประกอบอาหารภายใต้แบรนด์ UniQ®BONE และ UniQ®DHA และผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพแบรนด์ ZEAvita

ไทยยูเนี่ยนมีเป้าหมายเพื่อสร้าง "การมีสุขภาพที่ดี และท้องทะเลที่อุดมสมบูรณ์, Healthy Living, Healthy Oceans" โดยให้ความสำคัญกับสุขภาพผู้คน ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ท้องทะเล เราภาคภูมิใจในการเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact: UNGC) พร้อมทั้งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิเพื่อความยั่งยืนของอาหารทะเลสากล (International Seafood Sustainability Foundation: ISSF) และได้รับเกียรติเป็นเป็นประธาน SeaBOS หรือ Seafood Business for Ocean Stewardship ไทยยูเนี่ยนดำเนินงานด้านความยั่งยืนโดยยึดหลักกลยุทธ์ SeaChange® ที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ จากผลการประเมินงานด้านความยั่งยืนปี 2565 บริษัทได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices: DJSI) สำหรับตลาดเกิดใหม่เป็นปีที่ 9 ปีติดต่อกันและได้อันดับ 1 ในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารซึ่งไทยยูเนี่ยนเคยได้ในปี 2561 และปี 2562 นอกจากนี้ไทยยูเนี่ยนยังได้รับการคัดเลือกให้ติดอันดับดัชนี FTSE4Good Emerging Index เป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน

สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำงานด้านความยั่งยืนของบริษัทได้ที่ seachangesustainability.org.