โครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพ SPACE-F รุ่นที่ 4 นำ 10 สตาร์ทอัพขึ้นเวทีนำเสนอผลงานด้านเทคโนโลยีอาหาร

SPACE-F Batch 4 Incubator Program

จากความสำเร็จในการจัดงาน SPACE-F Accelerator Demo Day ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โครงการ SPACE-F รุ่นที่ 4 กลับมาอีกครั้งกับงาน SPACE-F Batch 4 Incubator Demo Day อีเวนท์การนำเสนอสุดยอดผลงานด้านเทคโนโลยีอาหารของสตาร์ทอัพภายใต้โปรแกรมบ่มเพาะสตาร์ทอัพ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือขององค์กรชั้นนำ ได้แก่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) ร่วมกับ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มหาวิทยาลัยมหิดล บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท ดีลอยท์ ประเทศไทย และบริษัท ล็อตเต้ ไฟน์ เคมิคอล จำกัด

ครั้งนี้ โครงการ SPACE-F รุ่นที่ 4 ได้นำ 10 สตาร์ทอัพจากโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพขึ้นเวที เพื่อนำเสนอผลงานแก่นักลงทุน และผู้ที่สนใจในนวัตกรรมด้าน FoodTech โดยร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมบน FoodTech Stage ในงานสัมมนาด้านเทคโนโลยีแห่งปีอย่าง Techsauce Global Summit 2023 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในวันที่ 16 สิงหาคม 2566

ด้วยศักยภาพและความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยี สตาร์ทอัพทั้ง 10 ทีมได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโปรแกรมบ่มเพาะสตาร์ทอัพ ผ่านการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ การปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม ทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อเรียนรู้ และพัฒนาโซลูชั่นให้มีความเฉียบคมยิ่งขึ้น พร้อมออกสู่ตลาด รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมในการระดมเงินทุนในระดับ Series A และ Seed Funding

SPACE-F Batch 4 Incubator Program

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวเปิดงาน SPACE-F Batch 4 Incubator Demo Day ว่า

"NIA ในฐานะผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม หรือ Focal Conductor มุ่งมั่นที่จะสร้างผลกระทบอย่างยั่งยืนต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ภายใต้แนวคิด Create the Dot - Connect the Dot - Value Creation ผ่านกลยุทธ์ “2 ลด 3 เพิ่ม” ได้แก่ ลดความเหลื่อมล้ำ ลดอุปสรรคการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากนวัตกรรม เพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพิ่มจำนวนนวัตกรและผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม และเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม

โครงการ SPACE-F นับเป็นแพลตฟอร์มเริ่มต้นสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และด้วยความร่วมมือของผู้สนับสนุนของโครงการ เราสามารถกระตุ้นนวัตกรรมและสร้างสภาพแวดล้อมที่ช่วยสนับสนุนให้กับสตาร์ทอัพเติบโต

ทั้งนี้ ความมุ่งมั่นของสตาร์ทอัพในโครงการ SPACE-F รุ่นที่ 4 ถือเป็นแรงผลักดันที่สำคัญในการเติบโตของสตาร์ทอัพ ไม่เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในระดับโลกอีกด้วย"

SPACE-F Batch 4 Incubator Program

ดร. ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ ผู้อำนวยการกลุ่มด้านนวัตกรรม บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ไทยยูเนี่ยนเชื่อว่าโครงการ SPACE-F จะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารให้มีความยั่งยืนอย่างมีนัยยะ และสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมการนำเสนอในงานในปีนี้ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพการพัฒนาเทคโนโลยีที่สร้างคุณค่าให้กับอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งครอบคลุมสาขาต่าง ๆ ตั้งแต่การนำผลผลิตรองมาผ่านกระบวนการเพื่อเปลี่ยนเป็นวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ไปจนถึงการนำเสนออาหารทางเลือกแห่งอนาคต อย่างผลิตภัณฑ์ที่มาจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ”

สตาร์ทอัพ 10 ทีมในโปรแกรมบ่มเพาะสตาร์ทอัพ โครงการ SPACE-F รุ่นที่ 4 ประกอบไปด้วย

  • BIRTH2022 เครื่องดื่มกาแฟสกัดเย็นจากเมล็ดกาแฟหมักด้วยแบคทีเรียโพรไบโอติก ที่มีส่วนช่วยให้มีรสชาติที่แตกต่าง มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และเก็บรักษาได้นานขึ้น
  • ImpactFat: ไขมันปลาจากการเพาะเลี้ยงเซลล์ อุดมไปด้วยสารอาหาร โอเมก้า 3 และไม่มีกลิ่นคาวปลา และสามารถช่วยเสริมรสชาติของอาหารได้ดียิ่งขึ้น
  • Marinas Bio: อาหารทะเลจากการเพาะเลี้ยงเซลล์ เน้นวัตถุดิบที่เป็นอาหารทะเล เช่น ไข่ปลาคาร์เวีย และ ไข่ปลาแซลมอน ที่ไม่สามารถผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • Mycovation: นำเสนอวัตถุดิบอาหารรูปแบบใหม่จากรากเห็ดที่ผลิตโดยใช้เทคโนโลยีการหมัก
  • NutriCious: เครื่องดื่มไข่ขาวแคลอรี่ต่ำเพื่อสุขภาพ รสชาติดี และอุดมไปด้วยสารอาหารจากนม และโปรตีน
  • Plant Origin: ผลิตภัณฑ์ไข่ทดแทนจากโปรตีนรำข้าว
  • Probicient: เบียร์โพรไบโอติกเจ้าแรกของโลก ทางเลือกของเครื่องดื่มสังสรรค์ที่ให้ผลดีต่อสุขภาพของคุณ!
  • The Kawa Project: ผงโกโก้ทดแทนจากกากกาแฟ ที่มีรสชาติและรสสัมผัสที่ไม่แตกต่างจากต้นฉบับ มีราคาที่ถูกกว่า และสามารถนำไปประยุกต์ได้หลากหลาย
  • Trumpkin: ชีสทางเลือกที่ผลิตจากเมล็ดฟักทอง สามารถทดแทนชีสจากผลิตภัณฑ์นม
  • Zima Sensors: เซ็นเซอร์ตรวจจับการรั่วไหลของอากาศในบรรจุภัณฑ์โดยใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยที่ช่วยให้สามารถตรวจสอบการรั่วไหลได้อย่างต่อเนื่อง

SPACE-F Batch 4 Incubator Program

รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวปิดกิจกรรม SPACE-F Batch 4 Incubator Demo Day โดยกล่าวถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้านการวิจัย ที่สนับสนุนทรัพยากร เครื่องมือ และผู้เชี่ยวชาญในหลายสาขาให้แก่ผู้ประกอบการด้าน FoodTech

มหาวิทยาลัยมหิดลริเริ่มโครงการ Mahidol Pre-incubation for SPACE-F เป็นโครงการบ่มเพาะทีม Startup ที่มาจากการรวมตัวของนักศึกษา อาจารย์ และนักวิจัยในมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีการติวเข้มในด้านต่างๆ ได้แก่ การพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ การวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์และตลาด การจัดทำแบบจำลองธุรกิจและแผนพัฒนาธุรกิจ รวมถึงทักษะการเป็นผู้ประกอบการในยุคปัจจุบัน

“หนึ่งในสตาร์ทอัพที่นำเสนอผลงานในวันนี้ นับเป็นผลงานจากโครงการ Mahidol Pre-incubation for SPACE-F เช่นกัน ทางมหาวิทยาลัยมหิดลตั้งใจที่จะสนับสนุน และยินดีต้อนรับสตาร์ทอัพที่มีความสนใจในการพัฒนาโซลูชั่นด้านอาหาร เพื่อเข้าร่วมโครงการในปีถัด ๆ ไป”

ปิดท้ายด้วย คุณต้องใจ ธนะชานันท์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานความยั่งยืนและกลยุทธ์ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้เน้นถึงบทบาทสำคัญของโครงการ SPACE-F ที่มีส่วนในการเชื่อมโยงนวัตกรรมต่าง ๆ ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางสำหรับนวัตกรรมด้านอาหารและเครื่องดื่มในระดับโลก

“ไทยเบฟมองว่าโครงการ SPACE-F นั้นเป็นแพลทฟอร์มที่ช่วยส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ซึ่งรวมถึงการสร้างสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี การบริโภคและการผลิตอย่างรับผิดชอบ รวมถึงการดำเนินการเพื่อสิ่งแวดล้อม”

SPACE-F Batch 4 Incubator Program

ด้วยความสำเร็จของสตาร์ทอัพทั้ง 4 รุ่น โครงการ SPACE-F นับเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพได้เข้าถึงการแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในวงการ การเชื่อมโยงทางธุรกิจ และพื้นที่ทำงานร่วมกัน เพื่อช่วยให้สตาร์ทอัพเหล่านั้นสามารถต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์หรือธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ และยังคงมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการเติบโตของสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหาร (FoodTech) และนวัตกรรมในระดับสากล

สตาร์ทอัพที่สนใจ และต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนานวัตกรรมในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สามารถสมัครเข้าร่วมในโครงการ SPACE-F รุ่นที่ 5 เพื่อเข้าสู่เครือข่ายของกลุ่มผู้พัฒนาเทคโนโลยีด้านอาหาร และรับโอกาสในการปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ ร่วมงานกับเพื่อนร่วมโครงการที่มีความสนใจคล้ายคลึงกัน และเข้าถึงทรัพยากรที่มีคุณค่า ซึ่งจะส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจ

ติดตาม SPACE-F ได้ทางเว็บไซต์ www.space-f.co หรือผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเพื่อรับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกิจกรรมของโครงการ SPACE-F รวมถึงความสำเร็จและผลงานของสตาร์ทอัพในโครงการรุ่นต่าง ๆ รวมถึงข่าวสารเกี่ยวกับโครงการ SPACE-F รุ่นที่ 5

###

เกี่ยวกับโครงการ SPACE-F

โครงการ SPACE-F มุ่งเน้นให้สตาร์ทอัพในธุรกิจเทคโนโลยีอาหารได้พัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรม รองรับกับความท้าทายในปัจจุบันและอนาคตที่ต้องเผชิญในอุตสาหกรรม สตาร์ทอัพที่เข้าร่วมจะได้รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ โอกาสในการเข้าถึงเครือข่ายและแหล่งเงินทุน เพื่อการเติบโตของธุรกิจ

โดยขอบเขตของ Startup ผู้เข้าร่วมโครงการ SPACE-F ครอบคลุมหมวดหมู่ดังต่อไปนี้ ด้านอาหารเพื่อสุขภาพ (health and wellness), ด้านโปรตีนทางเลือก (alternative proteins), ด้านกระบวนการผลิตอาหารอัจฉริยะ (smart manufacturing), ด้านบรรจุภัณฑ์แห่งอนาคต (packaging solution), ด้านส่วนผสมและอาหารใหม่ (novel food and ingredients), ด้านวัสดุชีวภาพและสารเคมี (biomaterial and chemical), ด้านเทคโนโลยีการบริหารจัดการร้านอาหาร (restaurant tech), ด้านการตรวจสอบควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร (food safety and quality) และ ด้านการบริการอัจฉริยะด้านอาหาร (smart food services)

นอกจากนี้ สตาร์ทอัพในโครงการ SPACE-F ทุกทีมที่เข้าร่วมโครงการยังมีโอกาสเข้าใช้สถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึงโอกาสในการสร้างผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาดร่วมกับบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้ผลิตอาหารทะเลชั้นนำที่ใหญ่ที่สุดในโลก อีกทั้งโครงการ SPACE-F ยังเป็นโครงการที่เปิดกว้างให้กับสตาร์ทอัพ โดยผู้ก่อตั้งโครงการจะไม่เข้าถือหุ้นใด ๆ เพื่อให้สตาร์ทอัพครอบครองแนวคิดและผลิตภัณฑ์ได้อย่างสมบูรณ์

สามารถเข้าชมข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ SPACE-F ได้ https://www.space-f.co