ไทยยูเนี่ยนจับมือ ASC ประกาศความร่วมมือในโครงการพัฒนาการเพาะเลี้ยงกุ้ง

ยูเทร็กท์, เนเธอร์แลนด์ – 7 กันยายน 2566 – จากความสำเร็จของโครงการนำร่องในหลายประเทศ Aquaculture Stewardship Council หรือ ASC จึงได้นำเสนอรายงานความก้าวหน้าของกรอบการทำงานโครงการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือ Aquaculture Improvements Projects (AIPs) ณ การประชุม Global Shrimp Forum ที่จัดขึ้นที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาของทาง ASC และมีการเปิดตัวไทยยูเนี่ยนในฐานะพันธมิตรระดับโลกที่ริเริ่มโครงการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำนี้ โดยตั้งเป้าเลี้ยงกุ้งภายใต้โครงการให้ได้ 15,700 เมตริกตัน ภายในปี 2569 ผู้เพาะเลี้ยงสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการและรับการสนับสนุนเพื่อปรับปรุงการดำเนินงานของฟาร์ม

Thai Union and ASC

Aquaculture Stewardship Council หรือ ASC มีพันธกิจในการพัฒนาอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้มีความยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อม และมีความรับผิดชอบต่อสังคม อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าผู้ผลิตอาหารทะเลจากแหล่งเพาะเลี้ยงทุกรายจะสามารถดำเนินงานตามมาตรฐานของ ASC ที่มีความเข้มงวดได้ ด้วยเหตุผลนี้เอง ทำให้ ASC ริเริ่มโครงการพัฒนานี้ขึ้นมาเพื่อช่วยฟาร์มที่ยังไม่มีความพร้อมที่จะได้การรับรองจาก ASC แต่มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาให้ฟาร์มมีความยั่งยืนขึ้น จึงได้เปิดตัวแนวทางการปฏิบัติที่มีความโปร่งใสและน่าเชื่อถือให้กับฟาร์มที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำนี้สามารถค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนและพัฒนาได้อย่างเป็นรูปธรรม

โครงการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือ Aquaculture Improvements Projects (AIPs) มี 2 รูปแบบ

อุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำยังขาดกรอบการทำงานที่ชัดเจน สำหรับโครงการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต่างจากโครงการพัฒนาประมงในภาคประมง ดังนั้น นี่จึงถือเป็นครั้งแรกที่ ASC ได้สร้างการทำงานอย่างมีมาตรฐานในการตรวจสอบการทำงานของโครงการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำขึ้น โดยในแต่ละโครงการจะเริ่มด้วยการวัดผลเพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการทำงาน รวมถึงการวิเคราะห์ช่องโหว่และวางแผนโครงการที่ระบุระยะเวลาชัดเจน แต่ละขั้นตอนจะต้องมีการรายงานความคืบหน้าเป็นระยะและจะต้องมีหน่วยงานอิสระเข้ามาตรวจสอบ โดย ASC จะเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะผ่านทางเว็บไซต์ ซึ่งสามารถเลือกค้นหาแต่ละโครงการได้ที่หัวข้อ "Find an AIP" บนหน้าเว็บไซต์ได้

ฟาร์มสามารถเลือกเข้าร่วมกับโครงการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้ใน 2 รูปแบบ ได้แก่ โครงการพัฒนาสู่การได้รับการรับรองจาก ASC หรือ AIP to ASC โดยโครงการย่อยนี้แบ่งการทำงานออกเป็น 4 ระยะด้วยกัน เพื่อพัฒนาการดำเนินงานในฟาร์มให้สู่ระดับที่ได้มาตรฐานในที่สุด และอีกรูปแบบหนึ่งก็คือ โครงการพัฒนาเพื่อปรับปรุงการบริหารงานภายในฟาร์ม หรือ AIP to Better Practices ซึ่งเหมาะสำหรับฟาร์มที่ไม่มีความประสงค์อยากได้รับการรับรองมาตรฐานจาก ASC แต่ต้องการปรับปรุงการทำงานให้มีความรับผิดชอบมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม

การเปิดตัวโครงการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือ AIP ทำให้ ASC สามารถยกระดับการทำงานในด้านความโปร่งใสและเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับอุตสาหกรรมอาหารทะเลที่เลี้ยงในฟาร์มให้เป็นมากกว่าการได้รับการรับรองมาตรฐาน โดยความโปร่งใสจะทำให้เกิดการทำงานและการสื่อสารที่มีข้อมูลครบถ้วน รวมถึงการลงทุนจะต้องอยู่ภายใต้ระบบที่มีความเท่าเทียมและยุติธรรม

บริษัทอาหารทะเลสามารถก้าวขึ้นมามีบทบาทในการผลักดันให้ฟาร์มในห่วงโซ่อุปทานเข้าร่วมโครงการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือ AIP ของ ASC ได้ ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถมองเห็นความคืบหน้า ผลงานรวมไปถึงแนวปฏิบัติของฟาร์มและการลงทุนที่ต้องใช้เพื่อพัฒนาให้ฟาร์มเหล่านี้สามารถได้รับการรับรองมาตรฐานจาก ASC ได้

ASC จะมีการอบรมให้กับเครือข่ายผู้ปฏิบัติ หรือ Implementer และผู้ประเมิน หรือ Verifier รวมไปถึงดูแลค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมโครงการเพื่อตอบแทนอุตสาหกรรม

นายรอย แวน ดาทเซลาร์ ผู้บริหารโครงการพัฒนา ของ ASC กล่าวว่า "การเปิดตัวกรอบการทำงานของโครงการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือ AIP รวมถึงการสนับสนุนและการลงทุนที่ทาง ASC ตั้งใจทำในครั้งนี้จะเป็นตัวแปรสำคัญในการพลิกโฉมอุตสาหกรรม โดยผู้ผลิตและผู้นำเข้าอาหารทะเลจะสามารถผลักดันให้ห่วงโซ่อุปทานของตนเองเข้าร่วมโครงการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้ และได้รับการสนับสนุนโดยตรงจากเราในรูปแบบของการพัฒนาศักยภาพต่างๆ ผู้ซื้อและผู้ค้าปลีกอาหารทะเลก็สามารถเข้ามาที่เว็บไซต์ของเราเพื่ออ่านรายงานความคืบหน้าของโครงการ หลังจากที่รายงานความคืบหน้าเหล่านี้ได้รับการตรวจสอบจากองค์กรอิสระต่างๆ แล้ว"

ความสำเร็จของโครงการนำร่อง กับการเข้าร่วมโครงการของไทยยูเนี่ยน

โครงการนำร่องจัดทำในประเทศอินโดนีเซียโดยร่วมมือกับบริษัทอาหารทะเลต่างๆ อาทิ PT BMI, Sekar Bumi และ JALA ซึ่งเข้าร่วมโครงการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสู่การรับรองโดย ASC หรือ AIP to ASC นอกจากนี้ทาง ASC ก็กำลังดำเนินโครงการนำร่องกับบริษัท Lenk Seafood Services และ Luna Seafoods ที่ร่วมมือกับฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำ 125 รายในประเทศบังคลาเทศและจะขอการรับรองแบบกลุ่ม หรือ Group Certification หลังจากเข้าร่วมโครงการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแล้ว

ไทยยูเนี่ยน ผู้ผลิตอาหารทะเลระดับโลกที่จดทะเบียนบริษัทในประเทศไทย ได้ประกาศกลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange® 2030 ที่ตั้งเป้าหมายไปจนถึงปี 2573 โดยตั้งเป้าหมายพลิกโฉมอุตสาหกรรมอาหารทะเล ผ่านการทำงานที่ครอบคลุมการดูแลผู้คนและสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน เพื่อความยั่งยืนของโลกในอนาคต ในการทำงานด้านความยั่งยืนนี้ ไทยยูเนี่ยนจะเป็นหนึ่งในบริษัทรายแรกๆ ที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือ AIP ของ ASC โดยมีเป้าหมายนำกุ้งเพาะเลี้ยงปริมาณ 4,000 เมตริกตันให้ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก ASC และอีก 11,700 เมตริกตันเข้าร่วมโครงพัฒนาเพื่อปรับปรุงการบริหารงานภายในฟาร์ม หรือ AIP to Better Practices โดยจะพัฒนาให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของ ASC ว่าด้วยเรื่องคุณภาพน้ำและสังคม

นายอดัม เบรนนัน ผู้อำนวยกลุ่มด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "เราได้เพิ่มพันธกิจด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างรับผิดชอบเข้าอยู่ในกลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange® 2030 และได้ระบุการทำงานในมิติต่างๆ รวมถึงเรื่องของสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชน สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความหลากหลายทางชีวภาพ"

"เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เราได้ให้คำมั่นว่า 100 เปอร์เซ็นต์ของกุ้งในธุรกิจเรา รวมถึงอาหารที่ใช้เลี้ยงกุ้งจะต้องลดผลกระทบต่อระบบนิเวศ และได้มาตรฐานอุตสาหกรรมในแง่ของสวัสดิการและสภาพการทำงาน นอกจากนี้ 100 เปอร์เซ็นต์ของฟาร์มที่จัดหาวัตถุดิบให้กับเราจะต้องมีสภาพการทำงานที่ปลอดภัยและมีคุณค่าภายในปี 2573 ซึ่งเราจะสามารถทำงานกับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ลงรายละเอียดถึงแผนการทำงานร่วมกัน การติดตามผล และตรวจสอบได้อย่างมีมาตรฐานจากกรอบการทำงานที่ทาง ASC ได้คิดค้นขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังไม่เคยมีการวางมาตรฐานเหล่านี้มาก่อนในอดีต" นายอดัมกล่าวเพิ่มเติม

ASC ยังตั้งเป้าในการขยายการทำงานต่อไปในอนาคต โดยมีแผนการสนับสนุนโครงการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือ AIP ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และละตินอเมริกา อีกทั้งยังหาพันธมิตรในการทำงาน เช่น องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF และองค์กรการประมงเพื่อความยั่งยืน หรือ Sustainable Fisheries Partnership (SFP) ในความพยายามที่จะพัฒนาให้เกิดขึ้นในวงกว้างไปจนถึงการบังคับเป็นกฎหมาย

ASC เปิดรับสมัครเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทั่วโลกที่สนใจเข้าร่วมในโครงการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือ AIP โดยสามารถติดต่อได้ที่ aipservice@asc-aqua.org

และหลังจากการเปิดตัว ตัวอย่างฟาร์มที่ได้มาตรฐาน ASC ในปีหน้าแล้ว ASC ยังมีแผนที่จะขยายโครงการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำนี้ จากกุ้งไปสู่สัตว์น้ำสายพันธุ์อื่นๆ อีกด้วย

เกี่ยวกับคณะกรรมการกำกับดูแลด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือ Aquaculture Stewardship Council (ASC)

ASC เป็นองค์กรชั้นนำของโลกในการรับรองมาตรฐานให้กับฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดในวงกว้าง

ASC สร้างและให้การรับรองมาตรฐานเพื่อสร้างความมั่นใจตลอดห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และยังเป็นผู้นำในด้านความโปร่งใสให้กับอุตสาหกรรมที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและการมีความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อให้แน่ใจว่าอาหารทะเลที่ได้รับการรับรองจาก ASC ได้รับการเพาะเลี้ยงอย่างใส่ใจ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.asc-aqua.org

เกี่ยวกับ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นผู้นำด้านอาหารทะเลระดับโลกที่นำผลิตภัณฑ์อาหารทะเลคุณภาพสูง ดีต่อสุขภาพ อร่อย และสร้างสรรค์ มาสู่ลูกค้าทั่วโลกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520

ปัจจุบัน ไทยยูเนี่ยนถือได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาหารทะเลชั้นนำของโลกและเป็นหนึ่งในผู้ผลิตปลาทูน่าในบรรจุภัณฑ์ชนิดต่างๆ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมียอดขายต่อปีเกินกว่า 155,586 ล้านบาท (4,438 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และแรงงานทั่วโลกกว่า 44,000 คน ที่ทุ่มเทให้กับการบุกเบิกผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่สร้างสรรค์และยั่งยืน

ปัจจุบันไทยยูเนี่ยนเป็นเจ้าของแบรนด์ทั่วโลก ประกอบด้วย แบรนด์ที่เป็นผู้นำตลาดโลกอย่าง Chicken of the Sea, John West, Petit Navire, Parmentier, Mareblu, King Oscar, Hawesta และ Rügen Fisch รวมทั้งแบรนด์ชั้นนำในประเทศไทย ได้แก่ ซีเล็ค ฟิชโช คิวเฟรช โมโนริ OMG MEAT เบลลอตต้า และมาร์โว่ นอกจากนี้ยังมีส่วนประกอบอาหารภายใต้แบรนด์ UniQ®BONE และ UniQ®DHA และผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพแบรนด์ ZEAvita

ไทยยูเนี่ยนมีเป้าหมายเพื่อสร้าง "การมีสุขภาพที่ดีและท้องทะเลที่อุดมสมบูรณ์, Healthy Living, Healthy Oceans" โดยให้ความสำคัญกับสุขภาพผู้คน ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ท้องทะเล เราภาคภูมิใจในการเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact: UNGC) พร้อมทั้งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิเพื่อความยั่งยืนของอาหารทะเลสากล (International Seafood Sustainability Foundation: ISSF) และได้รับเกียรติเป็นเป็นประธาน SeaBOS หรือ Seafood Business for Ocean Stewardship ไทยยูเนี่ยนดำเนินงานด้านความยั่งยืนโดยยึดหลักกลยุทธ์ SeaChange® ที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ จากผลการประเมินงานด้านความยั่งยืนปี 2565 บริษัทได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices: DJSI) สำหรับตลาดเกิดใหม่เป็นปีที่ 9 ปีติดต่อกันและได้อันดับ 1 ในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารซึ่งไทยยูเนี่ยนเคยได้ในปี 2561 และปี 2562 นอกจากนี้ไทยยูเนี่ยนยังได้รับการคัดเลือกให้ติดอันดับดัชนี FTSE4Good Emerging Index เป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน