ไทยยูเนี่ยนเดินหน้า Blue Finance ระยะที่ 2 ประกาศความสำเร็จได้รับสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน 11,485 ลบ.

  • ตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน (KPIs) / เป้าหมายด้านความยั่งยืน (SPTs) มีความสอดคล้องกับเป้าหมายด้านความยั่งยืนของไทยยูเนี่ยนภายใต้กลยุทธ์ SeaChange® 2030
  • ไทยยูเนี่ยนจับมือ 4 กลุ่มสถาบันการเงินชั้นนำที่ให้ความสำคัญกับการให้บริการทางการเงินเพื่อความยั่งยืน โดยกำหนดกรอบการดำเนินงานทางการเงินที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืนให้สอดคล้องกับหลักการสากลของสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืน

กรุงเทพฯ – 30 พฤศจิกายน 2566 – บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (ไทยยูเนี่ยน) ผู้นำธุรกิจอาหารทะเลระดับโลก ประกาศความสำเร็จในการจัดหาเงินทุนที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน โดยครั้งนี้เป็นสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability-Linked Loan หรือ SLL) มูลค่า 11,485 ล้านบาท ถือเป็นการเริ่มระยะที่ 2 ของโครงการ Blue Finance หรือการบริหารจัดการการเงินเพื่อการทำงานด้านการอนุรักษ์ท้องทะเลของไทยยูเนี่ยน โดยไทยยูเนี่ยนมีเป้าหมายจัดหาเงินทุนที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนให้ได้ 75 เปอร์เซ็นต์ของการจัดหาเงินทุนระยะยาวภายในปี 2568

ทั้งนี้ ในการดำเนินงานระยะแรกของโครงการ Blue Finance ที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2563-2565 ไทยยูเนี่ยนประสบความสำเร็จในการจัดหาเงินทุนที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน นับเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ของการจัดหาเงินทุนระยะยาวของบริษัท

สำหรับสินเชื่อ SLL ครั้งใหม่นี้ จะมีการออกให้ทั้งในสกุลเงินบาทไทยและดอลลาร์สหรัฐระยะเวลา 3 และ 5 ปี ซึ่งความสำเร็จในการจัดหาเงินทุนครั้งนี้เป็นก้าวที่สำคัญ ตอกย้ำถึงความทุ่มเทของไทยยูเนี่ยนในด้านความยั่งยืน และนอกจากการเข้าถึงการเงินที่ยั่งยืนแล้ว บริษัทยังจะได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงเมื่อสามารถบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน (SPTs) ได้ตามที่กำหนดด้วย

กลุ่มธนาคารชั้นนำ ได้แก่ ธนาคารเอชเอสบีซี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารเอ็มยูเอฟจี จำกัด (MUFG) ธนาคารมิซูโฮ จำกัด และธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น ได้จับมือร่วมกันในการให้การสนับสนุนการจัดหาเงินทุนครั้งใหม่นี้ในฐานะผู้จัดการเงินกู้ร่วม (Mandated Lead Arranger และ Bookrunner หรือ MLAB) และผู้ประสานงานด้านดัชนีความยั่งยืน (Sustainability Coordinators)

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ไทยยูเนี่ยนยินดีอย่างยิ่งที่ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากธนาคารชั้นนำที่มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ที่ไทยยูเนี่ยน ความยั่งยืนถือเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจ นับตั้งแต่ที่บริษัทได้เปิดตัวกลยุทธ์ความยั่งยืนครั้งแรกในปี 2559 เราได้นำความยั่งยืนเข้ามาปรับใช้ในการบริหารธุรกิจของเราทั่วโลก ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา SeaChange® มีบทบาทสำคัญในการจัดหาเงินทุนจากแหล่งเงินทุนที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืน และในปีนี้ บริษัทได้เปิดตัวกลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange® 2030 โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนและครอบคลุมมิติของผู้คนและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สำหรับสินเชื่อส่งเสริมความยั่งยืนในครั้งนี้ บริษัทฯ ได้นำเป้าหมายในการทำงานด้านความยั่งยืน SeaChange® 2030 เข้ามาเป็นตัวชี้วัดอัตราดอกเบี้ย แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการทำงานด้านความยั่งยืนของเรา นอกจากนี้ ยังชี้ให้เห็นว่าการทุ่มเทให้กับการทำงานด้านความยั่งยืนมาโดยตลอดจะช่วยส่งเสริมให้ไทยยูเนี่ยนเป็นผู้นำในตลาดเงินและตลาดทุนได้เช่นกัน”

เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายด้านความยั่งยืนของไทยยูเนี่ยนภายใต้ SeaChange® 2030 ตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน (KPIs) และการกำหนดเป้าหมายด้านความยั่งยืน (SPTs) จึงมุ่งเน้นไปที่ผลการดำเนินงานโดยรวมของบริษัทในด้าน สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG เช่น การรักษาอันดับในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (DJSI) ในหมวดอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร และกรอบที่ใช้วัดผลเกี่ยวกับเงินทุนที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืนเป็นไปตามระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสโคปที่ 1, 2, และ 3 ซึ่งสอดคล้องกับองค์กร Science-Based Targets Initiative (SBTi) เพื่อเป้าหมายในการก้าวสู่ Net Zero ภายในปี 2593

ไทยยูเนี่ยนถือว่าเป็นบริษัทอาหารทะเลระดับโลกแห่งแรก ที่มีการกำหนดเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาวที่ได้การรับรองจากองค์กร SBTi นับเป็นอีกก้าวที่สำคัญของอุตสาหกรรมนี้ นอกจากนี้ กรอบการดำเนินงานของสินเชื่อ SLL ยังเพิ่มเติมจากเดิมในเรื่องการทำประมงอย่างยั่งยืน ให้ครอบคลุมเรื่องการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างมีความรับผิดชอบ[1] โดยผ่านการตรวจสอบรับรองและความร่วมมือในโครงการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (Aquaculture Improvement Project หรือ AIP) เพื่อสร้างมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติใหม่ให้กับอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั่วโลกอีกด้วย

ดีเอ็นวี (DNV) ได้รับการมอบหมายให้เป็นผู้ชำนาญการอิสระที่ให้ความคิดเห็นและรายงานเกี่ยวกับตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน และการกำหนดเป้าหมายด้านความยั่งยืน รวมถึงให้การยืนยันถึงความสอดคล้องตรงกันกับหลักการของสินเชื่อ SLL โดยจะมีองค์กรภายนอกอื่นเข้ามาทำการตรวจสอบความคืบหน้าอีกครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่ามีการประเมินอย่างยุติธรรมและเป็นอิสระ

มร. จอร์โจ กัมบา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าวว่า “การจัดหาสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของไทยยูเนี่ยนครั้งนี้สะท้อนถึงความทุ่มเทที่ต้องการส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารทะเลให้มีความยั่งยืน การเป็นบริษัทอาหารทะเลระดับโลกรายแรกที่กำหนดเป้าหมาย ถือเป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนในการเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนของไทยยูเนี่ยน ซึ่งธนาคารเอชเอสบีซีจะใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนที่องค์กรมี เพื่อสนับสนุนให้ลูกค้าของเราบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

มร. เคนอิจิ ยามาโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “กรุงศรียินดีให้การสนับสนุนไทยยูเนี่ยนในโครงการสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนต่อในระยะที่ 2 โดยกรุงศรี และ MUFG มีวิสัยทัศน์ร่วมกันในการมุ่งมั่นส่งเสริมแนวทางปฏิบัติเพื่อความยั่งยืนในทุกมิติและทำงานประสานกันเพื่อช่วยให้ลูกค้าของเราบรรลุความสำเร็จบนเส้นทางสู่อนาคตที่ยั่งยืน ด้วยการจัดหาเงินทุนตามแนวทางด้าน ESG การดำเนินการเหล่านี้ตอกย้ำถึงความทุ่มเทของเราในการขับเคลื่อนและสนับสนุนลูกค้าบนเส้นทาง ESG เพื่อมุ่งสู่สร้างอนาคตที่สดใสและมีความรับผิดชอบมากขึ้น เพราะความยั่งยืนไม่ได้เป็นแค่เป้าหมาย หากแต่เป็นองค์ประกอบพื้นฐานสู่ความสำเร็จ”

มร. แรนดี้ ลู กรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายโกลบอล คอร์ปอเรท แบงกิ้ง ธนาคารเอ็มยูเอฟจี ประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า “MUFG รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ร่วมมือกับไทยยูเนี่ยนในการสร้างโลกที่ยั่งยืนมากขึ้นสำหรับคนรุ่นต่อๆ ไป บทบาทของธนาคารใน Blue Finance ครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงเป้าหมายที่สอดคล้องกันกับไทยยูเนี่ยนในด้านความยั่งยืน และความสามารถของ MUFG ในการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายของเราในเอเชียแปซิฟิกอย่างเต็มที่ รวมถึงการใช้ความสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์ของเรากับกรุงศรีเพื่อมอบความสำเร็จสูงสุดให้กับลูกค้ารายใหญ่ เราขอแสดงความยินดีกับไทยยูเนี่ยนอีกครั้งสำหรับความสำเร็จในการจัดหาแหล่งเงินทุนในครั้งนี้”

มร. เคอิ ชิโรตะ ผู้จัดการทั่วไป ธนาคาร มิซูโฮ จำกัด สาขากรุงเทพฯ กล่าวว่า “มิซูโฮขอแสดงความยินดีกับไทยยูเนี่ยนอีกครั้งในความสำเร็จทางการเงินที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืนนี้ และภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมาย Blue Finance ระยะที่ 2 ของไทยยูเนี่ยน ความร่วมมือครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการจัดหาเงินทุนเพื่อความยั่งยืนโดยพันธมิตรที่มีแนวคิดเดียวกัน เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เรียนรู้ว่าไทยยูเนี่ยนมุ่งมั่นและตั้งเป้าหมายการทำงานด้านความยั่งยืนที่ท้าทาย ซึ่งเป้าหมายเหล่านี้ต้องใช้ความพยายามและทรัพยากรอย่างมากในการตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดมากกว่าการดำเนินธุรกิจทั่วไป และเป็นแบบอย่างที่ดีของบริษัทอื่นๆ ในประเทศไทยและบริษัทอื่นๆ ในอุตสาหกรรมทั่วโลก

มิซูโฮเชื่อว่าการจัดหาเงินทุนที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืนนี้จะมีส่วนช่วยให้ไทยยูเนี่ยนประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนต่อไป”

มร. ทาคาชิ โทโยดะ Country Head of Thailand and General Manager of Bangkok Branch ธนาคาร ซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น (SMBC) กล่าวว่า “เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ธนาคาร ซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น (SMBC) ได้มีส่วนสนับสนุนไทยยูเนี่ยน ซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำของภาคธุรกิจและโดดเด่นเรื่องความริเริ่มในโครงการด้านความยั่งยืนที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนตลอดจนสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสังคมและสิ่งแวดล้อมไทยยูเนี่ยนมีการใช้ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานที่นับได้ว่าสร้างมาตรฐานใหม่ในระดับสูงให้กับอุตสาหกรรม และมีความสอดคล้องกับแนวทางของบริษัทที่เน้นหลักการด้าน ESG และด้วยความสามารถของ SMBC ในการจัดหาโซลูชั่นนวัตกรรมทางการเงินซึ่งสามารถปรับให้เหมาะสมกับความต้องการเฉพาะสำหรับองค์กรที่ขับเคลื่อนไปสู่ความยั่งยืน

SMBC มุ่งหวังความร่วมมืออย่างต่อเนื่องเพื่อปลูกฝังแนวปฏิบัติทางการเงินที่ยั่งยืน และส่งเสริมแนวคิดริเริ่มของบริษัท ไทยยูเนี่ยนที่มีส่วนสนับสนุนเชิงบวกต่อภาพรวมของ ESG ในระดับสากล”

มร. โทมัส ลีโอนาร์ด หัวหน้าแผนก Sustainability Services, Supply Chain & Product Assurance บริษัท ดีเอ็นวี (ประเทศไทย) จํากัด กล่าวว่า “เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้สนับสนุนไทยยูเนี่ยนในการออก สินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ผ่านทางการให้ความเห็นในฐานะผู้ชำนาญการอิสระ

DNV ได้ข้อสรุปว่า เป้าหมายด้านความยั่งยืน (SPTs) ทั้ง 4 มีความหมาย มีความเกี่ยวข้องกับบริบทของความยั่งยืนและกลยุทธ์ทางธุรกิจของไทยยูเนี่ยน นอกจากนั้นยังแสดงถึงการพัฒนาปรับปรุงอย่างสำคัญภายในช่วงเวลาที่กำหนด ซึ่งเป้าหมายด้านความยั่งยืน ทั้ง 4 ได้แก่ (1) ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ใน Top 5 เปอร์เซ็นต์ บริษัทชั้นนําในหมวดหมู่ดัชนีอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร DJSI ตาม S&P Yearbook (2) ลด Scope 1 & 2 GHG Emission ลง 42 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2573 เทียบจากข้อมูลฐานใน ปี 2564 (3) ลด Scope 3 GHG Emission ลง 42 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2573 เทียบจากข้อมูลฐานในปี 2564 และ (4) กุ้ง 100 เปอร์เซ็นต์ ได้รับการรับรองมาตรฐานที่ได้รับการเทียบเคียงโดย GSSI หรืออยู่ภายใต้ Aquaculture Improvement Program หรือ AIP ภายในปี 2573

เป้าหมายทั้ง 4 ข้อที่ทางไทยยูเนี่ยนได้ตั้งไว้นั้น สูงกว่าการดำเนินงานทางธุรกิจทั่วไป ซึ่งถือว่ามีความมุ่งมั่นเป็นอย่างสูง นอกจากนี้ DNV ยังได้ตรวจสอบแนวทางการปฏิบัติว่ามีความน่าเชื่อถือ และสามารถทำได้ภายในกรอบเวลาที่ตั้งไว้

จากข้อมูลที่ทางไทยยูเนี่ยนได้นำเสนอ และจากการประเมินของ DNV มีความเห็นว่ากรอบการทำงานของการจัดหาเงินทุนที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ตรงตามเกณฑ์ข้อกำหนดที่ได้วางไว้ตามมาตรฐานสากล เป้าหมายที่ได้กำหนดไว้มีสาระสำคัญ และเกี่ยวข้องกับกลยุทธ์ทางธุรกิจและการดำเนินงาน มีความมุ่งมั่น และมีความหมายในการปฏิบัติงานของไทยยูเนี่ยน

สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ SeaChange® ซึ่งเป็นกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนระดับโลกของไทยยูเนี่ยนได้ที่
https://seachangesustainability.org/

###

เกี่ยวกับ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นผู้นำด้านอาหารทะเลระดับโลกที่นำผลิตภัณฑ์อาหารทะเลคุณภาพสูง ดีต่อสุขภาพ อร่อย และสร้างสรรค์ มาสู่ลูกค้าทั่วโลกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520

ปัจจุบัน ไทยยูเนี่ยนถือได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาหารทะเลชั้นนำของโลกและเป็นหนึ่งในผู้ผลิตปลาทูน่าในบรรจุภัณฑ์ชนิดต่างๆ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมียอดขายต่อปีเกินกว่า 155,586 ล้านบาท (4,438 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และแรงงานทั่วโลกกว่า 44,000 คน ที่ทุ่มเทให้กับการบุกเบิกผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่สร้างสรรค์และยั่งยืน

ปัจจุบันไทยยูเนี่ยนเป็นเจ้าของแบรนด์ทั่วโลก ประกอบด้วย แบรนด์ที่เป็นผู้นำตลาดโลกอย่าง Chicken of the Sea, John West, Petit Navire, Parmentier, Mareblu, King Oscar, Hawesta และ Rügen Fisch รวมทั้งแบรนด์ชั้นนำในประเทศไทย ได้แก่ ซีเล็ค ฟิชโช คิวเฟรช โมโนริ OMG MEAT เบลลอตต้า และมาร์โว่ นอกจากนี้ยังมีส่วนประกอบอาหารภายใต้แบรนด์ UniQ®BONE และ UniQ®DHA และผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพแบรนด์ ZEAvita

ไทยยูเนี่ยนมีเป้าหมายเพื่อสร้าง "การมีสุขภาพที่ดีและท้องทะเลที่อุดมสมบูรณ์, Healthy Living, Healthy Oceans" โดยให้ความสำคัญกับสุขภาพผู้คน ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ท้องทะเล เราภาคภูมิใจในการเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact: UNGC) พร้อมทั้งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิเพื่อความยั่งยืนของอาหารทะเลสากล (International Seafood Sustainability Foundation: ISSF) และได้รับเกียรติเป็นเป็นประธาน SeaBOS หรือ Seafood Business for Ocean Stewardship

ไทยยูเนี่ยนได้ประกาศกลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange® 2030 พร้อมขยายขอบเขตการทำงานด้านความยั่งยืนให้ครอบคลุมมิติของผู้คนและสิ่งแวดล้อม ไทยยูเนี่ยนดำเนินงานด้านความยั่งยืนโดยยึดหลักกลยุทธ์ SeaChange® ที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ จากผลการประเมินงานด้านความยั่งยืนปี 2565 บริษัทได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices: DJSI) สำหรับตลาดเกิดใหม่เป็นปีที่ 9 ปีติดต่อกันและได้อันดับ 1 ในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารซึ่งไทยยูเนี่ยนเคยได้ในปี 2561 และปี 2562 บริษัทได้รับการจัดอันดับในดัชนี Seafood Stewardship Index (SSI) เป็นอันดับที่ 1 ในปี 2566 และปี 2566 นี้ยังได้รับการจัดอันดับอยู่ใน S&P Global Sustainability Yearbook 2023 โดยมีคะแนนอยู่ในกลุ่ม 1 เปอร์เซ็นต์ที่คะแนนสูงสุด จากกว่า 7,800 บริษัทที่เข้ารับการประเมิน นอกจากนี้ในปี 2565 ไทยยูเนี่ยนยังได้รับการคัดเลือกให้ติดอันดับดัชนี FTSE4Good Emerging Index เป็นปีที่ 7 ติดต่อกัน

###

เกี่ยวกับเอชเอสบีซี โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน):

เอชเอสบีซี โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทแม่ของธนาคารเอชเอสบีซี โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยธนาคารเอชเอสบีซีได้ให้บริการลูกค้าทั่วโลกผ่านสำนักงานใน 62 ประเทศ ด้วยสินทรัพย์มูลค่ากว่า 3,021 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 ทำให้ธนาคารเอชเอสบีซีเป็นหนึ่งในธนาคารและสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดของโลก

###

เกี่ยวกับกรุงศรี

กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ) เป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของไทยด้านสินทรัพย์ สินเชื่อ และเงินฝาก และเป็นหนึ่งในหกสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIB) โดยดำเนินธุรกิจมานานถึง 78 ปี กรุงศรีเป็นบริษัทในเครือของมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) กลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น และเป็นหนึ่งในกลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดระดับโลก กลุ่มกรุงศรีให้บริการทางการเงินการธนาคารอย่างครบวงจร ทั้งในด้านสินเชื่อเพื่อรายย่อย การลงทุน การบริหารจัดการกองทุน รวมทั้งผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินอันหลากหลายแก่กลุ่มลูกค้าบุคคล ลูกค้า SME และลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ผ่านสาขาของธนาคารกว่า 599 สาขา (เป็นสาขาที่ให้บริการทางการเงินในรูปแบบปกติ 559 สาขาและสาขาที่ให้บริการเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 40 สาขา) และช่องทางการขายกว่า 34,072 แห่งทั่วประเทศ นอกจากนี้ กรุงศรียังเป็นผู้ออกบัตรเครดิตรายใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยมีจำนวนบัญชีบัตรเครดิตและสินเชื่อเพื่อการผ่อนชำระ/สินเชื่อส่วนบุคคลมากกว่า 10.2 ล้านบัญชี และเป็นผู้ให้บริการด้านสินเชื่อรถยนต์ชั้นนำ (กรุงศรี ออโต้) พร้อมทั้งมีบริษัทบริหารจัดการกองทุนที่มีอัตราเติบโตสูงที่สุดแห่งหนึ่ง (บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงศรี จำกัด) ทั้งยังเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้มีรายได้น้อย (บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน)) อีกด้วย

กรุงศรีมีพันธสัญญาในการดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์สุจริตอย่างสูงสุด ธนาคารและบริษัทในเครือได้ผ่านการรับรองการเป็นสมาชิกอย่างสมบูรณ์ของ “แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต” โดยมุ่งร่วมมือกับองค์กรชั้นนำในไทยและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียของธนาคาร เพื่อให้การดำเนินธุรกิจปราศจากการทุจริตคอร์รัปชั่น

###

เกี่ยวกับ MUFG

มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) เป็นหนึ่งในกลุ่มสถาบันทางการเงินชั้นนำระดับโลก มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ กรุงโตเกียว ด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนานในการดำเนินธุรกิจกว่า 360 ปี MUFG มีเครือข่ายสำนักงานราว 2,000 แห่ง ในกว่า 50 ประเทศทั่วโลกและมีพนักงานกว่า 160,000 คน MUFG นำเสนอบริการทางการเงินที่หลากหลายครอบคลุมทั้งธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ทรัสต์แบงก์กิ้ง ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจบัตรเครดิต ธุรกิจสินเชื่อเพื่อรายย่อย ธุรกิจหลักทรัพย์จัดการกองทุน ธุรกิจเช่าซื้อ

MUFG มีเป้าหมายที่จะเป็น “กลุ่มสถาบันทางการเงินที่ได้รับความเชื่อถือมากที่สุดในโลก” ด้วยการผสานศักยภาพในการดำเนินธุรกิจเพื่อตอบสนองทุกความต้องการทางการเงินของลูกค้าโดยคำนึงถึงสังคมและการแบ่งปันสู่ความเติบโตอย่างยั่งยืน MUFG จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว ตลาดหลักทรัพย์นาโกยา และตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก

Bank นําเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ครอบคลุมทั้งในด้านธุรกิจและการลงทุนให้กับกลุ่มลูกค้าธุรกิจ ภาครัฐ และลูกค้ารายย่อยทั่วโลก

สําหรับในภูมิภาคเอเชีย MUFG ให้บริการครอบคลุมทั้งในออสเตรเลีย บังกลาเทศ กัมพูชา จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย อินเดีย เกาหลีใต้ สปป. ลาว มาเลเซีย มองโกเลีย เมียนมา นิวซีแลนด์ ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ศรีลังกา ไต้หวัน ไทย และเวียดนาม

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับหลายธนาคารที่สําคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้มีเครือข่ายแข็งแกร่งและครอบคลุม ซึ่งประกอบไปด้วย VietinBank ในเวียดนาม กรุงศรี ในไทย Security Bank ในฟิลิปปินส์ และ Bank Danamon ในอินโดนีเซีย

ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาเยี่ยมชมเว็บไซต์ https://www.bk.mufg.jp/global/globalnetwork/asiapacific/index.html

###

เกี่ยวกับ มิซูโฮ

มิซูโฮเป็นหนึ่งในกลุ่มสถาบันทางการเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลกโดยมีสินทรัพย์รวมประมาณ 237 ล้านล้านเยน ณ เดือนมีนาคม 2022 มิซูโฮมีพนักงานประมาณ 60,000 คนในมากกว่า 100 แห่งนอกประเทศญี่ปุ่นและมีประสบการณ์ด้านการธนาคารกว่า 140 ปีในอุตสาหกรรมการเงินที่สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ต่างๆที่ครอบคลุมด้านการเงินและการบริการเชิงกลยุทธ์รวมไปถึงการธนาคาร หลักทรัพย์ ทรัสต์และกองทุน เครดิตการ์ด ที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล และ ธุรกิจเงินร่วมลงทุน ผ่านทางกลุ่มสถาบันการเงินมิซูโฮรวมทั้งธนาคารมิซูโฮ และ บริษัทหลักทรัพย์มิซูโฮ

มิซูโฮได้ให้ความสำคัญและพร้อมที่จะให้การสนับสนุนทางด้านการเงินกับผู้ประกอบการที่มีความมุ่งมั่นในด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)

###

เกี่ยวกับ SMBC

SMBC มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในมหานครโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น SMBC เป็นหนึ่งในสภาบันการเงินชั้นนำระดับสากล SMBC เป็นองค์กรหลักภายใต้การดำเนินงานของ Sumitomo Mitsui Financial Group (SMFG) และมีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนานโดยก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1876 โดย SMBC ให้ความสำคัญกับลูกค้าของเราเป็นอันดับแรกและให้บริการแบบไร้รอยต่อแก่ลูกค้าของเราภายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

SMBC เป็นธนาคารญี่ปุ่นที่ใหญ่ที่สุดในด้านสินทรัพย์ โดยธนาคารมีสินทรัพย์รวมมากกว่า 238,700 พันล้านเยน และได้รับการจัดอันดับเครดิตที่แข็งแกร่งในเครือข่ายสำนักงานครอบคลุม 39 ประเทศทั่วโลก โดยมี 15 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก การให้บริการในภูมิภาคของเราขยายจากบริษัท องค์กร และสถาบันไปจนถึงลูกค้าบุคคลภายใต้กลยุทธ์ Multi-Franchise Strategy ของเราในประเทศอินโดนีเซีย อินเดีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ เราร่วมกันทำงานอย่างใกล้ชิดภายในกลุ่ม (One SMBC Group) นำเสนอบริการสำหรับบุคคล องค์กร และวาณิชธนกิจ (investment banking) เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าของเรา

ด้วยความยั่งยืนที่ฝังอยู่ในกลยุทธ์และการดำเนินงานของ SMBC เรามุ่งมั่นที่จะสร้างสังคมที่คนรุ่นปัจจุบันสามารถสัมผัสความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดี และส่งผ่านไปยังคนรุ่นต่อๆ ไปในอนาคต

###

เกี่ยวกับ DNV

DNV ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญอิสระที่มีประสบการณ์ทางด้านการรับรองและการบริหารจัดการความเสี่ยง เป้าหมายของเราคือการปกป้องชีวิต ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อม ผ่านทางการเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วยการให้ข้อมูลเชิงลึกที่เป็นจริงและเชื่อถือได้ เพื่อให้เกิดการตัดสินใจอย่างมั่นใจ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับความไว้วางใจจากองค์กรชั้นนำของโลกหลาย ๆ องค์กร เราใช้ความรู้ของเราในการพัฒนาเพิ่มความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการทำงาน สร้างมาตรฐานการทำงานอุตสาหกรรม และคิดค้นคำตอง หาทางแก้ปัญหาเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงระดับโลกต่าง ๆ

ท่านสามารถอ่านข้อมูลเกี่ยวกับ DNV เพิ่มได้ที่เว็บไซต์ Sustainable finance (dnv.com)

###