ไทยยูเนี่ยนปรับเปลี่ยนแนวปฏิบัติด้านแรงงานบนเรือประมง เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประมงให้เป็นไปตามมาตรฐานของ SSCI

กรุงเทพฯ – 30 มกราคม 2567 - บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านอาหารทะเลระดับโลก ได้ปรับเปลี่ยนโครงการพัฒนาเรือประมง และแนวปฏิบัติด้านแรงงานบนเรือประมง หรือ Vessel Code of Conduct (VCoC) เพื่อสร้างแนวทางที่ชัดเจนกับเรือประมงซึ่งจัดหาวัตถุดิบให้กับบริษัท ตลอดจนปรับปรุงยกระดับการดำเนินงานด้านแรงงาน ด้านจริยธรรม และด้านการตรวจสอบ (audit) ในภาคประมง

โครงการการพัฒนาเรือประมง และแนวปฏิบัติด้านแรงงานบนเรือประมง หรือ Vessel Code of Conduct (VCoC) ของไทยยูเนี่ยนเริ่มต้นขึ้นในปี 2560 เพื่อจัดการสภาพการทำงานบนเรือประมงที่จำเป็นต้องได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ โดยแนวปฏิบัติด้านแรงงานบนเรือประมงนี้ เป็นส่วนขยายจากจรรยาบรรณธุรกิจและแนวปฏิบัติด้านแรงงานของไทยยูเนี่ยน ซึ่งคู่ค้าทางธุรกิจของไทยยูเนี่ยนในปัจจุบัน และคู่ค้ารายใหม่ต้องลงนามในแนวปฏิบัติด้านแรงงานบนเรือประมงในการทำธุรกิจกับบริษัท เป็นการยืนยันว่า มีการดำเนินการตามแนวปฏิบัติ VCoC กับเรือประมงทั้งหมดในห่วงโซ่อุปทานของบริษัท

ไทยยูเนี่ยนได้ร่วมมือกับเครือข่าย CEO-led Consumer Goods Forum (CGF) เพื่อปรับเปลี่ยนโครงการพัฒนาการทำงานและสวัสดิการแรงงานประมง (Fisher Work and Welfare program) และ VCoC ให้มีความสอดคล้องมากที่สุดกับกรอบการดำเนินงาน At-Sea Operations ของโครงการ Sustainable Supply Chain Initiative (SSCI) ความร่วมมือนี้จะช่วยให้มาตรฐานบนเรือประมงของไทยยูเนี่ยนในฐานะผู้ผลิตและผู้รับซื้อสัตว์น้ำ มีความสอดคล้องกับมาตรฐานของอุตสาหกรรมค้าปลีก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับอุตสาหกรรม

CGF และ ไทยยูเนี่ยน ได้มอบหมายให้ผู้เชี่ยวชาญอิสระมาช่วยปรับปรุงเนื้อหาและกระบวนการทำงานของโครงการพัฒนาการทำงานและสวัสดิการแรงงานประมง ของไทยยูเนี่ยน จนสอดคล้องกับเกณฑ์การดำเนินงานและการตรวจสอบของ SSCI at-sea operations ได้เกือบทุกด้าน ทั้งนี้โครงการของไทยยูเนี่ยนไม่ได้เป็นการตรวจสอบเพื่อรับรองจากบุคคลที่สาม (third-party certification) กฎระเบียบที่เกี่ยวกับการรับรองหน่วยตรวจระบบกำกับดูแลจึงอยู่นอกขอบเขตการตรวจสอบของผู้เชี่ยวชาญอิสระที่ได้รับมอบหมาย

สำหรับรายละเอียดการปรับเปลี่ยนแนวปฏิบัติด้านแรงงานบนเรือประมง ครั้งที่ 3 มีดังนี้:

  • ปรับเปลี่ยนภาษา พร้อมแก้ไขการตีความนิยามข้อบังคับและส่วนเพิ่มเติมเฉพาะ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนด at-sea operations ของ Sustainable Supply Chain Initiative (SSCI)
  • การพัฒนาเพิ่มเติมโครงการพัฒนาการทำงานและสวัสดิการแรงงานประมง (Fisher Work and Welfare) เพื่อรวมกระบวนการและขั้นตอนสำหรับการคัดเลือก การตรวจสอบ และการทบทวนผู้ตรวจสอบด้านสังคม (social auditors)
  • วางระบบการติดตามการปรับปรุง และระบบบริหารจัดการการตรวจสอบทั่วไปให้เป็นทางการมากขึ้น
  • จัดทำคู่มือการดำเนินงานสำหรับผู้ตรวจสอบ เพื่อให้สอดคล้องกับวิธีการและการตีความข้อบังคับของแนวปฏิบัติด้านแรงงานบนเรือประมง

โครงการนี้ตอกย้ำถึงคุณค่าจากการร่วมมือกันระหว่างภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรม เช่น โครงการ SSCI ภายใต้ CGF แม้ว่าไทยยูเนี่ยนอาจจะไม่ได้เข้าเกณฑ์โครงการ SSCI ทั้งหมด แต่ไทยยูเนี่ยนได้แสดงให้เห็นว่าสามารถนำเครื่องมือวัดผลของโครงการ SSCI มาปรับใช้กับทิศทางของบริษัทฯ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานของอุตสาหกรรม และมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

จากความร่วมมือระหว่างไทยยูเนี่ยนกับ CGF ครั้งนี้ ในการปรับเปลี่ยนแนวปฏิบัติด้านแรงงานบนเรือประมง ครั้งที่ 3 โดยใช้เกณฑ์ขององค์กร SSCI พบว่าเป็นไปตามเกณฑ์การดำเนินงานในทะเลอย่างสมบูรณ์แบบ โดยในการตรวจสอบไม่ได้รวมเรื่องการทำประกันให้แก่ชาวประมง เนื่องจากอยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเติมซึ่งทางไทยยูเนี่ยนจะเป็นผู้ดำเนินการ ทั้งนี้ อดัม เบรนนัน ผู้อำนวยการกลุ่มด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "แนวปฏิบัติด้านแรงงานบนเรือประมงตัวใหม่จะช่วยให้การจัดการด้านแรงงาน จริยธรรม และการติดตามบนเรือประมงที่ไทยยูเนี่ยนรับซื้ออาหารทะเลปฏิบัติงานได้ถูกต้องตามความคาดหวังมากยิ่งขึ้น"

แนวปฏิบัติด้านแรงงานบนเรือประมงยังครอบคลุมถึงหน้าที่ของคู่ค้าในการพัฒนาโครงการพัฒนาเรือประมง (Vessel Improvement Program: VIP) เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนด และจัดการประเด็นต่างๆ ที่ต้องปรับปรุง แนวปฏิบัตินี้จะช่วยเพิ่มความโปร่งใสให้กับคู่ค้า รวมทั้งเป็นการแสดงความรับผิดชอบและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

โทนี่ ลาซาสซารา ผู้อำนวยการกลุ่มการจัดซื้อวัตถุดิบปลา บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เรายังคงเดินหน้าในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกสำหรับเรือประมงของคู่ค้า เรายังคงมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมงานที่ปลอดภัย ถูกกฎหมาย และมีคุณค่า โดยการดำเนินการตามภารกิจนี้ ครอบคลุมไปถึงการบังคับใช้จรรยาบรรณธุรกิจและแนวปฏิบัติด้านแรงงานอย่างเข้มงวด ดังนั้น หากคู่ค้ารายใดที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้จะถูกยุติสัญญาและไม่สามารถคงสถานะการเป็นคู่ค้าให้กับไทยยูเนี่ยนได้”

SeaChange® หรือกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนของไทยยูเนี่ยนเปิดตัวในปี 2559 และปรับปรุงใหม่ในปี 2566 ด้วยความมุ่งมั่นและตั้งเป้าหมายใหม่จนถึงปี 2573 โดยถือเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจของไทยยูเนี่ยน ซึ่งปลูกฝังเรื่องความยั่งยืนไว้ในทุกแง่มุมของการดำเนินงาน พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายอันมุ่งมั่นของเราผ่านเป้าหมายทั้ง 11 ประการที่เชื่อมโยงถึงกัน พร้อมมุ่งพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อเดินหน้าสู่การเป็นผู้นำอุตสาหกรรมอาหารทะเลที่ยั่งยืน เรามั่นใจว่ากลยุทธ์ SeaChange® 2030 จะช่วยทำให้การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นจริง เพื่อร่วมกันทำให้โลกของเรายั่งยืนเพื่อคนรุ่นต่อไป

เป้าหมายของกลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange® 2030 ประกอบด้วย ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 42 เปอร์เซ็นต์ในขอบเขตที่ 1, 2 และ 3 ภายในปี 2573 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593 การสนับสนุนงบประมาณ 250 ล้านบาท (มากกว่า 7 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพื่อปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศสำคัญ การปล่อยน้ำเสียเป็นศูนย์ การลดของเสียฝังกลบเป็นศูนย์ และลดการสูญเสียอาหารเป็นศูนย์ ในโรงงานหลักห้าแห่งทั้งในและต่างประเทศ การทำประมงอย่างรับผิดชอบ โดย 100 เปอร์เซ็นต์ของอาหารทะเลที่จับจากธรรมชาติจะต้องผลิตอย่างมีความรับผิดชอบ และไทยยูเนี่ยนยังคงเดินหน้าสร้างสถานที่ทำงานที่ปลอดภัย มีคุณค่า ยอมรับความแตกต่างและหลากหลาย มีความเท่าเทียม ตามแนวปฏิบัติด้านแรงงานบนเรือประมง

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวปฏิบัติด้านแรงงานบนเรือประมง สามารถอ่านได้ ที่นี่

###

เกี่ยวกับ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นผู้นำด้านอาหารทะเลระดับโลกที่นำผลิตภัณฑ์อาหารทะเลคุณภาพสูง ดีต่อสุขภาพ อร่อย และสร้างสรรค์ มาสู่ลูกค้าทั่วโลกกว่า 47 ปี

ปัจจุบันไทยยูเนี่ยนถือได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาหารทะเลชั้นนำของโลกและเป็นหนึ่งในผู้ผลิตปลาทูน่าในบรรจุภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมียอดขายต่อปีเกินกว่า 155,586 ล้านบาท (4,438 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และแรงงานทั่วโลกกว่า 44,000 คน ที่ทุ่มเทให้กับการบุกเบิกผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่สร้างสรรค์และยั่งยืน

ปัจจุบันไทยยูเนี่ยนเป็นเจ้าของแบรนด์ทั่วโลก ประกอบด้วย แบรนด์ที่เป็นผู้นำตลาดโลกอย่าง Chicken of the Sea, John West, Petit Navire, Parmentier, Mareblu, King Oscar, Hawesta และ Rügen Fisch รวมทั้งแบรนด์ชั้นนำในประเทศไทย ได้แก่ ซีเล็ค ฟิชโช คิวเฟรช โมโนริ OMG MEAT เบลลอตต้า และมาร์โว่ นอกจากนี้ยังมีส่วนประกอบอาหารภายใต้แบรนด์ UniQ®BONE และ UniQ®DHA และผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพแบรนด์ ZEAvita

ไทยยูเนี่ยนมีเป้าหมายเพื่อสร้าง "การมีสุขภาพที่ดีและท้องทะเลที่อุดมสมบูรณ์, Healthy Living, Healthy Oceans" โดยให้ความสำคัญกับสุขภาพผู้คน ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ท้องทะเล เราภาคภูมิใจในการเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact: UNGC) พร้อมทั้งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิเพื่อความยั่งยืนของอาหารทะเลสากล (International Seafood Sustainability Foundation: ISSF) และได้รับเกียรติเป็นเป็นประธาน SeaBOS หรือ Seafood Business for Ocean Stewardship

ไทยยูเนี่ยนได้ประกาศกลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange® 2030 พร้อมขยายขอบเขตการทำงานด้านความยั่งยืนให้ครอบคลุมมิติของผู้คนและสิ่งแวดล้อม ไทยยูเนี่ยนดำเนินงานด้านความยั่งยืนโดยยึดหลักกลยุทธ์ SeaChange® ที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ จากผลการประเมินงานด้านความยั่งยืนปี 2565 บริษัทได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices: DJSI) สำหรับตลาดเกิดใหม่เป็นปีที่ 9 ปีติดต่อกันและได้อันดับ 1 ในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารซึ่งไทยยูเนี่ยนเคยได้ในปี 2561 และปี 2562 บริษัทได้รับการจัดอันดับในดัชนี Seafood Stewardship Index (SSI) เป็นอันดับที่ 1 ในปี 2566 และปี 2566 นี้ยังได้รับการจัดอันดับอยู่ใน S&P Global Sustainability Yearbook 2023 โดยมีคะแนนอยู่ในกลุ่ม 1 เปอร์เซ็นต์ที่คะแนนสูงสุด จากกว่า 7,800 บริษัทที่เข้ารับการประเมิน นอกจากนี้ในปี 2565 ไทยยูเนี่ยนยังได้รับการคัดเลือกให้ติดอันดับดัชนี FTSE4Good Emerging Index เป็นปีที่ 7 ติดต่อกัน