ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป มีผลการดำเนินการจากไตรมาสที่ 2 ที่ 1,400 ล้านบาท โดยมีอัตรากำไรขั้นต้นที่เพิ่มขึ้น ท่ามกลางสภาวะความท้าทายของตลาดอย่างต่อเนื่อง

  • ยอดขายไตรมาส 2 ของปี 2561 เท่ากับ 34.1 พันล้านบาท ลดลง 2 เปอร์เซ็นต์ จากปีที่ผ่านมา และกำไรสุทธิไตรมาส 2 ของปี 2561 เท่ากับ 4,709 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.2 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาสที่ผ่านมา
  • อัตรากำไรขั้นต้นปรับตัวดีขึ้น 13.8 เปอร์เซ็นต์ ในไตรมาส 2 ของปี 2561 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา อยู่ที่ 11.3 เปอร์เซ็นต์
  • ค่าเงินบาทที่แข็งค่าและต้นทุนวัตถุดิบที่ผันผวนอย่างมาก ทำให้ผลกำไรตอบแทนยังคงเผชิญความท้าทายอย่างต่อเนื่อง
  •  กระแสเงินสดจากการดำเนินการที่แข็งแกร่ง กว่า 3.8 พันล้าน บริษัทประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล 0.25 บาท ต่อหุ้น

บรรยายภาพ: นักเรียนกำลังอ่านฉลากโภชนาการบนกระป๋องซีเล็คทูน่าระหว่างกิจกรรมการจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปโภชนาการอาหารที่จัดขึ้นโดยไทยยูเนี่ยน ณ โรงเรียนวัดศรีสุทธาราม จังหวัดสมุทรสาคร (ภาพโดย: วิเชาว์ อภิรักษ์ภูวดล/ไทยยูเนี่ยน)

6 สิงหาคม 2561, กรุงเทพฯ – บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) รายงานผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2 ประจำปี 2561 ยอดขายรวมลดลงเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เท่ากับ 34.1 พันล้านบาท เนื่องจากผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นและยอดขายปลาทูน่าที่ลดลง ในส่วนของผลกำไร บริษัทมีอัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 4 เปอร์เซ็นต์ จาก 2.9 เปอร์เซ็นต์ ในไตรมาสแรกของปี หากไม่รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน ยอดขายจะทรงตัว จากปีที่แล้ว โดยลดลงเพียง 0.1 เปอร์เซ็นต์

กำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นอย่างมากจากไตรมาสที่ผ่านมา มาอยุ่ที่ 4,709 ล้านบาท ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้น เท่ากับ 13.8 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับกำไรขั้นต้นในไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ที่ 11.3 เปอร์เซ็นต์ สินค้าคงคลังที่มีต้นทุนราคาวัตถุดิบที่สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจกุ้ง รวมถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความผันผวนของตลาด

ในส่วนของยอดขายไทยยูเนี่ยนในไตรมาส 2 ปี 2561 ธุรกิจอาหารทะเลแปรรูป (ambient) มียอดขายลดลง 1.6 เปอร์เซ็นต์ จากปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 16,363 ล้านบาท ส่วนยอดขายธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งและแช่เย็นของบริษัท ลดลง 2.6 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 13,324 ล้านบาท และธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงและผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า มียอดขายลดลง 1.2 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 4,450 ล้านบาท ในขณะที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ 7 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2561 ยอดขายในอเมริกาเหนือ มีสัดส่วน 38 เปอร์เซ็นต์ ของยอดขายรวมทั้งหมด ในขณะที่ตลาดยุโรป คิดเป็น 32 เปอร์เซ็นต์ ตลาดประเทศไทยมีสัดส่วน 10 เปอร์เซ็นต์ และยอดขายตลาดอื่นๆ คิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์

สภาพตลาดที่มีการแข่งขันสูงขึ้นในอเมริกาเหนือและค่าเงินเหรียญสหรัฐที่อ่อนตัวลง มีผลทำให้ยอดขายอาหารทะเลแปรรูป อาหารทะเลแช่เยือกแข็งและแช่เย็น โดยเฉพาะกุ้งและล็อบสเตอร์ มีมูลค่าลดลง ในขณะที่ในส่วนของปริมาณในธุรกิจอาหารทะเลแช่เยือกแข็งและแช่เย็น เติบโตขึ้น 3 เปอร์เซ็นต์ในภูมิภาคหลักนี้

แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศไทย จีน และตะวันออกกลาง ยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมียอดขายเพิ่มมากขึ้นจากการออกสินค้าใหม่และการมุ่งเน้นการสร้างกิจกรรมการขายและการตลาด

ค่าใช้จ่ายในด้านการขายและการบริหารจัดการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 10.4 เปอร์เซ็นต์ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 เมื่อเทียบกับ 9.5 เปอร์เซ็นต์ จากในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยการเปลี่ยนแปลงนี้ เกิดขึ้นจากรายการพิเศษที่เกิดขึ้นครั้งเดียวในระหว่างไตรมาสที่ 2 และค่าใช้จ่ายทางกฎหมายจากการดำเนินคดีในอเมริกาเหนือ

จากการบริหารเงินทุนที่แข็งแกร่ง และ กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อม (EBITDA) ที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ บริษัทรายงานกระแสเงินสดจากกิจกรรมการดำเนินงานที่ 7.5 พันล้านบาท ในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 แม้ว่าบริษัทจะมีการจ่ายเงินปันผลเมื่อเดือนเมษายนที่ 2.4 พันล้านบาท การลงทุนกิจการในประเทศรัสเซีย และการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต ทำให้ไทยยูเนี่ยนยังรักษาสัดส่วนหนี้สินต่อทุนสุทธิในไตรมาสที่ 2 ปี 2651 อยู่ที่ 1.41 เท่า โดยปรับเพิ่มขึ้นจาก 1.38 เท่า เมื่อปลายปี 2560

"ถึงแม้ว่าจะมีความกดดันในเรื่องต้นทุนวัตถุดิบที่สูงและความผันผวนทางเศรษฐกิจในหลายๆ ตลาดทั่วโลก เรายังมีอัตรากำไรขั้นต้นและผลกำไรสุทธิที่แสดงถึงการปรับตัวที่ดีขึ้น" นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไทยยูเนี่ยน กล่าว

"ไทยยูเนี่ยน จะเดินหน้าทำงานอย่างหนักต่อไป เพื่อที่จะผ่านความท้าทายทางธุรกิจและสภาวะตลาดที่ผันผวนนี้ไปให้ได้ ซึ่งเราได้มุ่งเน้นในการพัฒนาธุรกิจอย่างเนื่อง รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ ในขณะเดียวกันเราก็ได้ขยายความหลากหลายทางภูมิศาสตร์ด้วย" นายธีรพงศ์ กล่าว

ไตรมาสที่ 2 ปี 2561 บริษัท Chicken of the Sea ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของไทยยูเนี่ยน ได้ทำข้อตกลงจ่ายค่าชดเชยให้กับ วอลมาร์ท ในการดำเนินคดีต่อต้านการผูกขาดในสหรัฐอเมริกา และกำลังเจรจากับผู้ฟ้องร้องอื่นในคดีที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งส่งผลให้ บริษัท Chicken of the Sea ได้มีการตั้งสำรองค่าใช้จ่ายพิเศษมูลค่า 44 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสะท้อนความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

ไทยยูเนี่ยน ยังคงขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องและตกลงเข้าซื้อหุ้น 45 เปอร์เซ็นต์ของ ทียูเอ็มดี ลักเซมเบอร์ก (TUMD Luxembourg S.a.r.l หรือ TUMD) ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทในรัสเซีย 3 แห่ง คือ ดาลพรอมรีบา ลิมิเต็ด ไลอะบิลิตี้ คอมพานี (Dalpromryba Limited Liability Company) ทอโกโว-พรอมิเชนนี คอมเพลกซ์ "ดาลพรอมรีบา" ลิมิเต็ด ไลอะบิลิตี้ คอมพานี (Torgovo-Promyshlenny Kompleks "Dalpromryba" Limited Liability Company) และมากูโร ลิมิเต็ด ไลอะบิลิตี้ คอมพานี (Maguro Limited Liability Company) โดยทั้ง 3 บริษัทนี้ รวมเรียกว่า ดีพีอาร์ กรุ๊ป (DPR Group)

ดีพีอาร์ ดำเนินธุรกิจปลาและอาหารทะเลที่เน้นค้าปลีกและเป็นผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋องรายใหญ่ที่สุดในรัสเซีย ไทยยูเนี่ยน เลือกลงทุนในดีพีอาร์ เพราะแพลตฟอร์มการผลิตและจัดจำหน่ายของบริษัทนี้ สามารถสร้างโอกาสในการพัฒนาและเติบโตทางธุรกิจได้อย่างมาก ดีพีอาร์ มียอดขายราว 45 ล้านเหรียญสหรัฐ ดำเนินธุรกิจทั้งในส่วนของอาหารแปรรูปและแช่แข็ง และเป็นเจ้าของแบรนด์อย่าง มากูโร (Maguro) แคปตัน ออฟ เทสส์ (Captain of Tastes) และไรบาร์ (Rybar) ทั้งนี้บริษัทคาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ ในอีก 3 ปีข้างหน้า

ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ไทยยูเนี่ยนได้ตกลงเข้าถือหุ้น 25.1 เปอร์เซ็นต์ ของธรรมชาติซีฟู้ด ซึ่งคิดเป็นเงินลงทุนประมาณ 37 ล้านบาท ซึ่งธรรมชาติซีฟู้ดมียอดขายมากกว่า 660 ล้านบาท ให้บริการจัดการอย่างมืออาชีพด้านเคาน์เตอร์อาหารทะเลแก่ผู้ประกอบการค้าปลีกของไทย โดยมีเคาน์เตอร์อาหารทะเลให้บริการสินค้าทั้งแบบสดและแบบแช่แข็ง 158 แห่งในประเทศไทย ซึ่งรวมถึงกลุ่มร้านอาหารและเครื่องดื่ม โดยมีแนวคิด 2 รูปแบบ คือ เดอะ ดอค ซีฟู้ดบาร์ (The Dock Seafood Bar) เดอะ ล็อบสเตอร์ แล็บ (The Lobster Lab) ซึ่งมี 8 สาขา นอกจากนี้ยังมีให้บริการแบบโอเชียนบาร์ (Ocean Bar)

ไทยยูเนี่ยนได้ลงทุนในด้านนวัตกรรม ผ่านศูนย์วิจัยนวัตกรรม (Gii) ซึ่งมีผลลัพธ์ในทางที่ดี Chicken of the Sea แบรนด์ผู้นำระดับโลกของ ไทยยูเนี่ยน ได้เริ่มจำหน่ายผลิตภัณฑ์ใหม่ INFUSIONS ซึ่งเป็นทางเลือกใหม่ที่มีรสชาติและเพื่อสุขภาพที่ดี ช่วยสร้างรสชาติให้อาหารพร้อมทาน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มาในรูปแบบบรรจุภัณฑ์ผนึกโปร่งใส ในถ้วยทูน่าที่พร้อมทานได้ทันทีในตลาดสหรัฐ ส่วนในตลาดสหราชอาณาจักร แบรนด์ John West ก็ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ No-Drain Fridge Pot โดยมีบรรจุภัณฑ์ที่ช่วยประหยัดพื้นที่ในตู้เย็น โปร่งใส ตัวถ้วยสามารถลอกออกได้ง่าย ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเพิ่มเนื้อปลาในมื้ออาหารได้ง่ายขึ้น

ส่วนผลิตภัณฑ์คุณภาพของไทยยูเนี่ยนอย่าง เยลโล่ฟิน ทูน่า สไลซ์ และไส้กรอกทูน่า ยังคงเปิดตัวในตลาดใหม่ๆ ซึ่งไส้กรอกทูน่านั้น เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหารต่างจากผลิตภัณฑ์ไส้กรอกแบบดั้งเดิม

เยลโลฟิน ทูน่าสไลซ์ เป็นทูน่าแผ่นปรุงรสพร้อมทาน ที่ทำจากเนื้อปลาทูน่าล้วน สายพันธุ์ครีบเหลือง รายแรกของโลก เพื่อลูกค้าที่ต้องการทางเลือกในการรับประทานอาหารกลางวันที่สะดวก รสชาติดี และมีคุณค่าทางโภชนาการ ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ได้เปิดตัวที่ประเทศเกาหลีใต้ และไทย ตามมาด้วยการเริ่มจำหน่ายในช่องทางการบริการอาหารทั่วสหรัฐอเมริกา ภายใต้แบรนด์ Chicken of the Sea และได้เริ่มโฆษณาในทวีปยุโรปและตะวันออกกลาง

ไทยยูเนี่ยน ยังได้ดำเนินมาตรการและกิจกรรมหลายอย่างที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน SeaChange® ในไตรมาสที่ 2 ปี 2561

ในเดือนมิถุยายน ทางบริษัทได้เผยแพร่ รายงานเพื่อความยั่งยืนประจำปีต่อสาธารณะ โดยนำเสนอข้อมูลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2560 เทียบกับตัวชี้วัดหลักและเป้าหมายที่ตั้งไว้ในกลยุทธ์เพื่อความยั่งยืนของบริษัท หรือที่เรียกว่า SeaChange® โดยรายงานฉบับนี้ ได้ให้รายละเอียดวิธีการทำงานเชิงกลยุทธ์ของไทยยูเนี่ยนด้านความยั่งยืนที่กำลังปฏิรูปวิธีการดำเนินงานของอุตสาหกรรมอาหารทะเลทั่วโลก

นอกจากนี้ในเดือน มิถุนายน ไทยยูเนี่ยน และ WWF ประเทศอังกฤษ ได้เผยแพร่รายงานความก้าวหน้าประจำปีของการทำงานร่วมกันในทวีปยุโรป ตั้งแต่ปี 2557 ไทยยูเนี่ยนและกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ร่วมมือกันทำงานในทวีปยุโรปเพื่อส่งมอบข้อตกลงกฎบัตรอาหารทะเล (Seafood Charter) ที่มุ่งเน้นการพัฒนาความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเล ซึ่งการทำงานนี้ได้รับสนับสนุนในระดับโลกผ่านทาง SeaChange® กลยุทธ์ความยั่งยืนของไทยยูเนี่ยน และพันธกิจการจัดการปลาทูน่าแบบยั่งยืน ไทยยูเนี่ยนได้ให้คำมั่นว่าปลาทูน่าทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ ที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าของบริษัท จะมาจากการประมงที่ได้รับรองตามมาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการรับรองมาตรฐานสินค้าประมง (Marine Stewardship Council: MSC) หรือมาจากโครงการพัฒนาการประมง (Fishery Improvement Project: FIPs) ซึ่งเราได้ลงทุน 90 ล้านเหรียญสหรัฐ ในการดำเนินงานนี้ โดยสามารถอ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่นี่

ก่อนหน้านี้ ในเดือนพฤษภาคม ไทยยูเนี่ยน ได้เผยแพร่รายงานความก้าวหน้าพันธกิจการจัดการปลาทูน่าแบบยั่งยืน เพื่อส่งเสริมเรื่องความโปร่งใส ไทยยูเนี่ยนได้ประกาศจะรายงานความก้าวหน้าพันธกิจการจัดการปลาทูน่าแบบยั่งยืน เป็นประจำทุกปี เมื่อตอนเปิดตัวในเดือนมกราคม 2559 สำหรับรายงานความก้าวหน้าพันธกิจด้านปลาทูน่าทั้งหมด สามารถอ่านได้ที่นี่

ในเดือน พฤษภาคม ไทยยูเนี่ยน ได้เผยแพร่ประกาศการดำเนินงานร่วมกับกรีนพีซตามข้อตกลงที่ลงนามร่วมกันมีความคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจ ทั้งด้านมาตรการแก้ไขการทำประมงที่ผิดกฎหมายและการทำประมงที่มากเกินไป รวมถึงการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของแรงงานหลายแสนคนตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ข้อตกลงระหว่างไทยยูเนี่ยนและกรีนพีซเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2560 โดยไทยยูเนี่ยนให้คำมั่นในการดำเนินการตาม SeaChange® กลยุทธ์ความยั่งยืนของบริษัท ซึ่งครอบคลุมถึงความพยายามในการสนับสนุนการประมงตามแนวปฏิบัติที่ดี การปรับปรุงการประมงในด้านอื่นๆ การลดการกระทำที่ผิดกฎหมาย และขาดจริยธรรมในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก และใช้วัตถุดิบปลาทูน่าที่มาจากการประมงที่มีความรับผิดชอบในตลาดหลักๆ มากขึ้น

นอกจากนั้น ไทยยูเนี่ยน จากการสนับสนุนของกลุ่มลูกค้า เราได้ร่วมมือกับบริษัทตรวจสอบจากภายนอกเป็นครั้งแรกที่ดำเนินการโดยบริษัทที่ปรึกษาด้านความปลอดภัยและเป็นบริษัทที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลของ UL ซึ่งมีเรือจำนวน 240 ลำที่อยู่ในกลุ่มตัวอย่าง และช่วยระบุถึงความเป็นไปได้ของการละเมิดสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชน รวมถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพของกองเรือของไทยโดยมีการจัดทำแผนปฏิบัติการตามเป้าหมาย

"ในฐานะหนึ่งในบริษัทอาหารทะเลชั้นนำของโลก ไทยยูเนี่ยนกำลังทำงานอย่างหนักเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในหลายๆ ส่วนของอุตสาหกรรมอาหารทะเล นอกจากนั้น กลยุทธ์ด้านความยั่งยืน SeaChange® จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง เพื่อช่วยให้ทุกคนบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์กรสหประชาชาติ" นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไทยยูเนี่ยน กล่าว "ก้าวต่อไป ไทยยูเนี่ยน จะยังทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการด้านโภชนาการของโลก โดยมีจุดมุ่งหมายในการสร้างความยั่งยืนสู่ท้องทะเลทั้งในปัจจุบันและเพื่อรักษาให้คงไว้แก่คนรุ่นหลังต่อไป"

###

เกี่ยวกับ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นผู้นำธุรกิจอาหารทะเลของโลก ซึ่งส่งมอบผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่มีนวัตกรรม รสชาติดี มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และมีคุณภาพสูงให้กับผู้บริโภคทั่วโลกมากกว่า 40 ปี

วันนี้ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าบรรจุภาชนะชนิดต่าง ๆ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมียอดขายต่อปีมากกว่า 1.35 แสนล้านบาท (4.03 พันล้านเหรียญสหรัฐ) และมีพนักงานทั่วโลกรวมกันมากกว่า 49,000 คน ซึ่งล้วนทุ่มเทเพื่อผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่มีนวัตกรรมและความยั่งยืน

ไทยยูเนี่ยนเป็นเจ้าของแบรนด์ทั่วโลก ประกอบด้วยแบรนด์ที่เป็นผู้นำตลาดโลกอย่าง Chicken of the Sea, John West, Petit Navire, Parmentier, Mareblu, King Oscar และ Rügen Fisch รวมทั้งแบรนด์ชั้นนำในประเทศไทย ได้แก่ ซีเล็ค ฟิชโช คิวเฟรช โมโนริ เบลลอตต้า และมาร์โว่

จากพันธกิจในการเป็นบริษัทแห่งนวัตกรรมและดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบทั่วโลก ไทยยูเนี่ยนภูมิใจที่ได้เป็นหนึ่งในภาคีข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact) และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิเพื่อความยั่งยืนของอาหารทะเลสากล (International Seafood Sustainability Foundation – ISSF) ในปี 2558 ไทยยูเนี่ยนเปิดตัวกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน SeaChange® และดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเรื่องมาโดยตลอดในเรื่องดังกล่าว จนส่งผลโดยรวมให้ไทยยูเนี่ยนได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI) สำหรับตลาดเกิดใหม่มาตั้งแต่ปี 2557 และในปี 2559 ไทยยูเนี่ยนได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกของ DJSI เป็นปีที่สามติดต่อกัน นอกจากนี้ ไทยยูเนี่ยนได้รับการคัดเลือกให้ติดอันดับดัชนี FTSE4Good Emerging Index อีกด้วย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
อภิรดี ภู่ภิรมย์ (พิต้า)
Consumer Marketing Communications Lead
มือถือ: +66.81.802.6933
อีเมล: Apiradee.Poopirom@thaiunion.com