ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ยอดขายไตรมาส 1 ลดลง ท่ามกลางสภาวะตลาดที่ท้าทายอย่างมาก

  • ยอดขาย ไตรมาส 1 ของปี 2561 เท่ากับ 29,703 ล้านบาท ลดลง 5.5 เปอร์เซนต์ จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และกำไรสุทธิ ไตรมาส 1 ของปี 2561 เท่ากับ 869 ล้านบาท ลดลง 39.3 เปอร์เซนต์ จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
  • ค่าเงินบาทที่แข็งค่าและต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้กำไรลดลง
  • กระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง ช่วยทำให้อัตราหนี้สินต่อทุนสุทธิดีขึ้น

บรรยายภาพ– แบรนด์สินค้าภายใต้ไทยยูเนี่ยน (เครดิตภาพ: ไทยยูเนี่ยน)

7 พฤษภาคม 2561, กรุงเทพฯ – บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) รายงานผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 1 ประจำปี 2561 ยอดขายรวมลดลง 5.5 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับ 29,703 ล้านบาท เมื่อเทียบจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นและยอดขายปลาทูน่าที่ลดลง ในส่วนของผลกำไร บริษัทมีกำไรสุทธิเท่ากับ 869 ล้านบาท ลดลง 39.3 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบจากระยะเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

กำไรขั้นต้นลดลง 26.2 เปอร์เซ็นต์ จากปีก่อน เท่ากับ 3,360 ล้านบาท ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้น เท่ากับ 11.3 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกับอัตรากำไรขั้นต้นในไตรมาส 1 ปี 2560 ที่ 14.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอัตรากำไรขั้นต้นที่ลดลงเป็นผลจากสินค้าคงคลังที่มีต้นทุนราคาวัตถุดิบที่สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจปลาทูน่า รวมถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอีกด้วย

ในส่วนของยอดขายไทยยูเนี่ยนในไตรมาส 1 ปี 2561 ธุรกิจอาหารทะเลแปรรูป (ambient) มียอดขายลดลง 1.6 ปอร์เซนต์จากปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 14,100 ล้านบาท ส่วนยอดขายธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งและแช่เย็นของบริษัท ลดลง 8.9 เปอร์เซนต์ เมื่อเทียบจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา เป็น 11,522 ล้านบาท และธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงและผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า มียอดขายลดลง 8.2 เปอร์เซ็นต์ จากปีที่แล้ว อยู่ที่ 4,080 ล้านบาท

ในไตรมาส 1 ของปี 2561 ยอดขายในอเมริกาเหนือ มีสัดส่วน 40 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายรวมทั้งหมด ในขณะที่ตลาดยุโรป คิดเป็น 32 เปอร์เซ็นต์ ตลาดประเทศไทยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 12 เปอร์เซ็นต์ และยอดขายตลาดอื่นๆ คิดเป็น 16 เปอร์เซ็นต์

สภาพตลาดที่มีการแข็งขันสูงขึ้นในอเมริกาเหนือและค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนตัวลง มีผลทำให้ยอดขายอาหารทะเลแปรรูป อาหารทะเลแช่เยือกแข็งและแช่เย็น โดยเฉพาะกุ้งและล็อบสเตอร์ ลดลงทั้งปริมาณและมูลค่าในภูมิภาคหลักนี้

แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศไทย จีน และตะวันออกกลาง ยังโตต่อเนื่อง โดยมียอดขายเพิ่มมากขึ้นจากการเปิดขายสินค้าใหม่และความพยายามในการขายและการตลาด

ค่าใช้จ่ายในด้านการขายและการบริหารจัดการปรับตัวดีขึ้นเป็น 11.23 เปอร์เซนต์ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2561เมื่อเทียบกับ 11.79 เปอร์เซนต์ ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ถึงแม้ว่าผลกำไรจะลดลง บริษัทยังคงมีกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง ที่ทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนสุทธิปรัตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 1.35 เท่า ในไตรมาส 1 ของปี 2561 เปรียบเทียบกับ 1.38 เท่า ณ สิ้นปี 2560

“ถึงแม้ว่าจะมีความท้าทายในเรื่องต้นทุนวัตถุดิบและสินค้าคงคลังที่สูงและความผันผวนในหลายๆตลาดทั่วโลก เรายังมีรายได้อื่นๆและความสามารถในการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนมาช่วยหนุนกำไรสุทธิของเรา” นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไทยยูเนี่ยน กล่าว


“ไทยยูเนี่ยน จะเดินหน้าทำงานอย่างหนักต่อไป เพื่อที่จะผ่านความท้าทายทางธุรกิจและสภาวะตลาดที่ผันผวนนี้ไปให้ได้ ขณะนี้ความกดดันในเรื่องราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น ได้เริ่มคลี่คลายลงหลังจากราคาปลาทูน่าเริ่มมีสัญญาณปรับตัวสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย”

ไทยยูเนี่ยน ยังคงขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องและตกลงเข้าซื้อหุ้น 45 เปอร์เซนต์ของ ทียูเอ็มดี ลักเซมเบอร์ก (TUMD Luxembourg S.a.r.l หรือ TUMD) ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทในรัสเซีย 3 แห่ง คือ ดาลพรอมรีบา ลิมิเต็ด ไลอะบิลิตี้ คอมพานี (Dalpromryba Limited Liability Company) ทอโกโว-พรอมิเชนนี คอมเพลกซ์ “ดาลพรอมรีบา” ลิมิเต็ด ไลอะบิลิตี้ คอมพานี (Torgovo-Promyshlenny Kompleks “Dalpromryba” Limited Liability Company) และมากูโร ลิมิเต็ด ไลอะบิลิตี้ คอมพานี (Maguro Limited Liability Company) โดยทั้ง 3 บริษัทนี้ รวมเรียกว่า ดีพีอาร์ กรุ๊ป (DPR Group)

ดีพีอาร์ ดำเนินธุรกิจปลาและอาหารทะเลที่เน้นค้าปลีกและเป็นผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋องรายใหญ่ที่สุดในรัสเซีย ไทยยูเนี่ยน เลือกลงทุนในดีพีอาร์ เพราะแพลตฟอร์มการผลิตและจัดจำหน่ายของบริษัทนี้ สามารถสร้างโอกาสในการพัฒนาและเติบโตทางธุรกิจได้อย่างมาก ดีพีอาร์ มียอดขายราว 45 ล้านเหรียญสหรัฐ ดำเนินธุรกิจทั้งในเซกเมนต์ของอาหารแปรรูปและแช่แข็งและเป็นเจ้าของแบรนด์อย่าง มากูโร (Maguro) แคปตัน ออฟ เทสส์ (Captain of Tastes) และไรบาร์ (Rybar)

การที่ไทยยูเนี่ยนเข้าซื้อหุ้น 45 เปอร์เซนต์ของทียูเอ็มดี เป็นการซื้อหุ้นทั้งที่ออกใหม่และหุ้นของลูกค้า ซึ่งมีมูลค่า 16 ล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยออพชั่นต่างๆ ตามที่มีการตกลงกัน ไทยยูเนี่ยน คาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นเป็น 51 เปอร์เซนต์ และ 80 เปอร์เซนต์ ตามลำดับในอีก 3 ปีข้างหน้า การเข้าลงทุนนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการป้องกันการผูกขาดบริการของรัสเซีย (The Russian Federal Anti-Monopoly Service)

ซึ่งการเข้าลงทุนในครั้งนี้ จะช่วยให้ไทยยูเนี่ยนครอบคลุมตลาดอาหารทะเลสำคัญหลักๆในยุโรปได้เกือบทั้งหมด รวมถึงสามารถเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่ที่มีการเติบโตอย่างสูงได้อีกด้วย

รัสเซีย มีระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่และเจริญเติบโต แต่การบริโภคทูน่ายังต่ำแต่มีอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างมั่นคง มีการคาดการณ์ว่ายอดขายทูน่าและอาหารทะเลอื่นๆ จะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นรวมถึงการเอาใจใส่ต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งความร่วมมือกับ ไทยยูเนี่ยน จะช่วยให้พีดีอาร์ มีบทบาทในตลาดที่แข็งแกร่งขึ้น และยังมีแผนที่จะดันยอดขายเพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ในอีก 5 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ การลงทุนในนวัตกรรมของไทยยูเนี่ยน เริ่มเห็นผลลัพธ์ในทางบวก จากการเปิดตัวของเยลโลฟิน ทูน่า สไลซ์ และไส้กรอกทูน่า สองสินค้านวัตกรรมใหม่ที่คิดค้นจากศูนย์นวัตกรรมของไทยยูเนี่ยน

เยลโลฟิน ทูน่าสไลซ์ เป็นทูน่าแผ่นปรุงรสพร้อมทาน ที่ทำจากเนื้อปลาทูน่าล้วน สายพันธุ์ครีบเหลือง รายแรกของโลก เพื่อลูกค้าที่ต้องการทางเลือกในการรับประทานอาหารกลางวันที่สะดวก รสชาติดี และมีคุณค่าทางโภชนาการ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เยลโล่ฟิน ทูน่าสไลซ์ ได้รับรางวัล Seafood Excellence Award 2018 ในหมวดผลิตภัณฑ์เพื่อธุรกิจบริการด้านอาหารใหม่ที่ดีที่สุด จากงานซีฟู้ด เอ็กซ์โป นอร์ทอเมริกา (Seafood Expo North America) ที่บอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้เยลโลฟิน ทูน่าสไลซ์ ยังได้เปิดตัวที่ยุโรปในงาน ซีฟู้ด เอ็กซ์โป โกลบอล ที่บรัสเซลส์ในเดือนเมษายน และยังติดหนึ่งในผู้เข้ารอบสุดท้ายของรางวัล Seafood Excellence Global Awards จากงานนี้อีกด้วย

ขณะนี้เยลโลฟิน ทูน่าสไลซ์ ได้เปิดตัวขายทั่วสหรัฐอเมริกาให้กับร้านอาหารและเคานเตอร์ขายอาหาร ภายใต้แบรนด์ชิกเก้นออฟเดอะซี และเริ่มทำการขายบ้างแล้วในยุโรปและตะวันออกกลาง

ไทยยูเนี่ยน กำลังดำเนินมาตรการและกิจกรรมหลายอย่างที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน SeaChange®  เมื่อเดือนมีนาคม บริษัทได้ผนึกกำลังร่วมแก้ปัญหามลพิษที่เกิดจากพลาสติกในท้องทะเล กับโครงการ Global Ghost Gear Initiative (GGGI) เพื่อลดปัญหาการทิ้งอุปกรณ์จับปลาในท้องทะเลทั่วโลก  

ในเดือนเมษายน ไทยยูเนี่ยน ได้รับรางวัลชนะเลิศบริษัทในประเทศไทยที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการกำกับดูแลกิจการ (Most Committed to Corporate Governance) และบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม (Best at Corporate Social Responsibility) จากการสำรวจบริษัทที่มีการจัดการที่ดีที่สุดในเอเชียครั้งที่ 18 (18th Asia’s Best Managed Companies) โดย FinanceAsia

และในเดือนกุมภาพันธ์ ไทยยูเนี่ยนและเนสท์เล่ ได้ร่วมมือกันเปิดตัวเรือสาธิตอย่างเป็นทางการ เพื่อส่งเสริมและสร้างความเข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงานให้กับแรงงานในอุตสาหกรรมประมงของไทย  โดยทั้งสองบริษัทร่วมกับ Vérité ปรับปรุงเรือประมงแบบเก่าของไทย โดยปรับให้เป็นเรือประมงที่มีสภาพความเป็นอยู่และสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี ซึ่งรวมถึงอาหารและน้ำดื่มที่สะอาดอย่างพอเพียง พื้นที่สำหรับการพักผ่อนอย่างเหมาะสม พื้นที่รับประทานอาหารและทำกิจกรรมยามว่าง มีชุดปฐมพยาบาล และห้องน้ำที่ได้มาตรฐานสุขอนามัย

นอกจากนี้แล้ว ไทยยูเนี่ยน ได้เปิดตัววิดีโอสั้น ในโครงการนำร่องระบบตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบด้วยนวัตกรรมดิจิทัล ซึ่งพัฒนาร่วมกับพันธมิตรในอุตสาหกรรม และหน่วยงานภาครัฐ ในการช่วยส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมอาหารทะเล เนื้อหาวิดีโอดังกล่าวแสดงถึงการติดตั้งระบบบนเรือประมงในประเทศไทย รวมทั้งการแนะนำวิธีการใช้แอปพลิเคชันต่างๆ ในการติดต่อสื่อสารกับครอบครัวและเพื่อนให้กับลูกเรือ กัปตัน และเจ้าของเรือในขณะออกทะเล ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในอุตสาหกรรมประมงไทยที่มีการติดตั้งระบบดังกล่าว

“ไทยยูเนี่ยน มีบทบาทในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกเพราะเราเป็นหนึ่งในบริษัทอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก” นายธรพงศ์กล่าวเสริม “เมื่อมองไปข้างหน้า ไทยยูเนี่ยนจะเดินหน้าทำงานอย่างหนักเพื่อตอบสนองความต้องการทางโภชนาการของผู้บริโภคทั่วโลก ในรูปแบบที่ยั่งยืนและปกป้องมหาสมุทรเพื่อคนรุ่นต่อไปในอนาคต” 

###

เกี่ยวกับ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) 

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นผู้นำธุรกิจอาหารทะเลของโลก ซึ่งส่งมอบผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่มีนวัตกรรม รสชาติดี มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และมีคุณภาพสูงให้กับผู้บริโภคทั่วโลกมากว่า 40 ปี

วันนี้ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าบรรจุภาชนะชนิดต่าง ๆ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมียอดขายต่อปีมากกว่า 1.35 แสนล้านบาท (4.03 พันล้านเหรียญสหรัฐ) และมีพนักงานทั่วโลกรวมกันมากกว่า 49,000 คน ซึ่งล้วนทุ่มเทเพื่อผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่มีนวัตกรรม และมีความยั่งยืน 

ไทยยูเนี่ยนเป็นเจ้าของแบรนด์ทั่วโลก ประกอบด้วย ประกอบด้วย แบรนด์ที่เป็นผู้นำตลาดโลกอย่าง Chicken of the Sea, John West, Petit Navire, Parmentier, Mareblu ,King Oscar, และ Rügen Fisch รวมทั้งแบรนด์ชั้นนำในประเทศไทย ได้แก่ ซีเล็ค ฟิชโช คิวเฟรช โมโนริ เบลลอตต้า และมาร์โว่

จากพันธกิจในการเป็นบริษัทแห่งนวัตกรรมและดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบทั่วโลก ไทยยูเนี่ยนภูมิใจที่ได้เป็นหนึ่งในภาคีข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact) และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิเพื่อความยั่งยืนของอาหารทะเลสากล (International Seafood Sustainability Foundation – ISSF) ในปี 2558 ไทยยูเนี่ยนเปิดตัวกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน SeaChange® และดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเรื่องมาโดยตลอดในเรื่องดังกล่าว จนส่งผลโดยรวมให้ไทยยูเนียนได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI) สำหรับตลาดเกิดใหม่มาตั้งแต่ปี 2557  และในปี 2559 ไทยยูเนี่ยนได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกของ DJSI เป็นปีที่สามติดต่อกัน  นอกจากนี้ ไทยยูเนี่ยนได้รับการคัดเลือกให้ติดอันดับดัชนี  FTSE4Good Emerging Index เมื่อเร็ว ๆ นี้อีกด้วย http://seachangesustainability.org

ติดต่อสอบถาม

กฤษณา ปานสุนทร
Head of External Affairs
T:  +66.2298.0024 Ext. 4423
M: +66.0.61.418.1461
E: Krissana.parnsoonthorn@thaiunion.com