ไทยยูเนี่ยนตั้งพันธกิจมุ่งมั่น เรื่องการจัดการทูน่าแบบยั่งยืน 100%

  • หนึ่งในกลยุทธ์ใหม่ด้านปลาทูน่าคือ ไทยยูเนี่ยนสัญญาว่าปลาทูน่าทั้งหมด 100% ที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าของบริษัท จะมาจากการประมงที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการรับรองมาตรฐานสินค้าประมง (Marine Stewardship Council : MSC) หรือมาจาก Fishery Improvement Projects (โครงการพัฒนาการประมง) ซึ่งจะพัฒนาขึ้นสู่การได้รับการรับรองตามมาตรฐาน MSC
  • บริษัทตั้งเป้าหมายทำให้ได้อย่างน้อย 75% ภายในสิ้นปี 2563 
  • บริษัททุ่มงบ 90 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3,200 ล้านบาทในช่วงเริ่มต้น ดำเนินการ 11 โครงการใหม่ของโครงการพัฒนาการประมง หวังเพิ่มปริมาณปลาทูน่าอย่างยั่งยืนในระบบอุปทานโลก
  • บริษัทมุ่งเน้นเรื่องความสามารถในการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบเป็นกุญแจสำคัญของความยั่งยืน และให้ความสำคัญกับเรื่องแรงงานที่มีความปลอดภัยและถูกกฎหมายในอุตสาหกรรมทูน่า
  • การทดลองใช้เทคโนโลยีใหม่ในการตรวจสอบซึ่งออกแบบมาเพื่อยกระดับความสามารถในการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบ และตอบโจทย์ประเด็นที่ท้าทายที่สุดของอุตสาหกรรมอาหารทะเล

13 ธันวาคม 2559 กรุงเทพฯ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หนึ่งในบริษัทด้านอาหารทะเลชั้นนำของโลก ประกาศกลยุทธ์ที่มีความท้าทาย ตั้งเป้าวัตถุดิบปลาทูน่า 100% ที่ใช้ในทุกผลิตภัณฑ์ของบริษัท ต้องมาจากการจัดหาด้วยวิธีการเพื่อความยั่งยืน โดยบริษัทมีเป้าหมายมุ่งมั่นต้องทำให้ได้อย่างน้อย 75% ภายในปี 2563

สำหรับกลยุทธ์ใหม่ด้านปลาทูน่านี้  ไทยยูเนี่ยนลงทุนมูลค่า 90 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วงเริ่มต้น เพื่อเพิ่มปริมาณปลาทูน่าอย่างยั่งยืนในระบบอุปทานโลก โดยการตั้ง Fishery Improvement Projects หรือ FIP (โครงการพัฒนาการประมง) 11 โครงการทั่วโลก โครงการ FIP เป็นโครงการเปลี่ยนรูปแบบการประมง เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีจำนวนปลาสมบูรณ์สืบทอดไปถึงอนาคตในระยะยาว รวมทั้งลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และพัฒนาการจัดการการประมงอย่างมีประสิทธิภาพ

“ปลาทูน่าเป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพของผู้บริโภคหลายล้านคนทั่วโลก และมีคนอย่างน้อยพันล้านคนที่ต้องการโภชนาการจากอาหารทะเล หรือได้รับการจ้างงานอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ ในฐานะที่เป็นผู้นำอุตสาหกรรมอาหารทะเล ไทยยูเนี่ยนมีความรับผิดชอบต่อการปกป้องจำนวนปลาทูน่าเพื่อประโยชน์ของโลก” นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป กล่าว “การลงทุนอย่างมี

สาระสำคัญของเราจะช่วยเปลี่ยนรูปแบบการจัดหาปลาทูน่าให้กับทั้งอุตสาหกรรม และเป็นการแสดงถึงพันธกิจอันมุ่งมั่นของเราเพื่อความยั่งยืนของท้องทะเลของเรา”

ในบริบทของไทยยูเนี่ยน ปลาทูน่าที่ได้รับการจัดหามาด้วยวิธีการเพื่อความอย่างยั่งยืน     หมายถึงปลาทูน่าที่มาจากการประมงที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการรับรองมาตรฐานสินค้าประมง (Marine Stewardship Council :MSC) หรือมาจาก FIP (โครงการพัฒนาการประมง) ซึ่งจะยกระดับให้ได้ตามมาตรฐาน MSC ในอนาคต มาตรฐาน MSC เป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ว่าเป็นมาตรฐานที่ดีที่สุดของความยั่งยืนด้านอาหารทะเล[1]

“ในปัจจุบัน มีการประมงเพียง 11 แห่งทั่วโลกที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน MSC โดยเป็นแหล่งอุปทานเพียง 14% ของปลาทูน่าที่จับขึ้นฝั่งทั่วโลก[2] พันธกิจและกลยุทธ์ของเราจะส่งผลเชิงสร้างสรรค์ต่อทั้งอุตสาหกรรม โดยจะเพิ่มปริมาณปลาทูน่าที่ได้รับการจัดหาด้วยวิธีการเพื่อความยั่งยืนอย่างมีนัยสำคัญ

ให้มีปริมาณเพียงพอต่อผู้ผลิต ผู้ค้าปลีก และผู้บริโภ” ดร. แดเรี่ยน แมคเบน ผู้อำนวยการกลุ่มการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป กล่าว

บริษัท ไทยยูเนี่ยน จะรายงานความก้าวหน้าที่มีต่อพันธกิจทูน่าทั่วโลกนี้อย่างสม่ำเสมอ โดยได้จัดทำเว็บไซต์ http://seachangesustainability.org เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับพันธกิจทูน่าทั่วโลกของบริษัท รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับ SeaChange® ซึ่งเป็นกลยุทธ์เพื่อความยั่งยืนที่ครอบคลุมรายละเอียดมากขึ้น

พันธกิจด้านปลาทูน่าใหม่ของไทยยูเนี่ยน จะมีผลใช้กับแบรนด์ผลิตภัณฑ์ทูน่าของบริษัททั้งหมดทั่วโลก ซึ่งรวมไปถึงแบรนด์ ชิคเก้นออฟเดอะซี (อเมริกาเหนือ), จีโนวา (อเมริกาเหนือ), จอห์น เวสต์ (ยุโรปเหนือและตะวันออกกลาง), มาเรบลู (อิตาลี), เปอติ นาวีร์ (ฝรั่งเศส) และซีเล็ค (ประเทศไทย) โดยผลิตภัณฑ์แต่ละแบรนด์ดังที่ได้กล่าวมานี้จะรายงานต่อสาธารณะถึงความก้าวหน้าที่มีต่อพันธกิจปี 2563 นี้อย่างสม่ำเสมอ

ประเด็นสำคัญเพิ่มเติมจากกลยุทธ์ใหม่ด้านปลาทูน่า

นอกเหนือจากการลงทุนในโครงการพัฒนาการประมงใหม่นี้ ไทยยูเนี่ยนได้พัฒนาโครงการริเริ่มอื่นๆ มากมาย โดยบริษัทเชื่อว่าความสามารถในการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบเป็นแกนหลักสำคัญในการนำไปสู่ความยั่งยืน และบริษัทกำลังลงทุนในการทดลองใช้เทคโนโลยีระบบดิจิตอลใหม่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความโปร่งใสในระบบห่วงโซ่อุปทาน ในการใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับแบบดิจิตอลเต็มรูปแบบนี้ บริษัทจะสามารถตรวจสอบการจับปลาที่ผิดกฎหมาย ไร้การควบคุม และขาดการรายงาน ผ่านการติดตามข้อมูลบนระบบ ซึ่งจะสร้างความมั่นใจว่าเรือประมงปฏิบัติตามกฎระเบียบทั้งหมด และติดตามมาตรฐานด้านแรงงานที่มีการกำหนดใช้ตลอดทั้งระบบห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้ล้วนช่วยเสริมมาตรการที่มีการดำเนินการอยู่แล้วอย่างแข็งขัน เพื่อช่วยให้มั่นใจว่าแรงงานที่เข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมนี้มีความปลอดภัยและมีการจ้างงานอย่างถูกกฎหมาย

นอกจากนี้ ไทยยูเนี่ยนให้คำมั่นว่าจะจัดหาวัตถุดิบจากเรืออวนขนาดใหญ่เท่านั้น โดยต้องเป็นเรือที่ขึ้นทะเบียนอยู่ใน ProActive Vessel Register[3] ไทยยูเนี่ยนจะใช้นโยบายด้านปลาทูน่าให้สอดคล้องกันทั่วโลก และจะส่งเสริมงานวิจัยทั้งทางวิชาการและทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการจำนวนปลาอย่างมีประสิทธิภาพ มูลนิธิเพื่อความยั่งยืนของอาหารทะเลสากล (International Seafood Sustainability Foundation: ISSF) จะดำเนินการตรวจสอบประจำทุกปี เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ประกอบการคู่ค้าทั้งหมดปฏิบัติตามคำแนะนำของมูลนิธิฯ เป็นการช่วยปรับปรุงงานด้านสิ่งแวดล้อม, ความสามารถในการตรวจสอบย้อนกลับ และการเฝ้าสังเกตการประมงปลาทูน่าในน่านน้ำนานาชาติ[4]

[1] สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับมาตรฐานการประมง MSC ศึกษาเพิ่มเติมได้ที https://www.msc.org/about-us/standards/fisheries-standard.  

[2] Global Impacts Report 2016, Marine Stewardship Council, หน้า 9 และ 44, https://www.msc.org/documents/environmental-enefits/global-impacts/msc-global-impacts-report-2016

[3] The ProActive Vessel Register (PVR) ดำเนินงานโดยมูลนิธิเพื่อความยั่งยืนของอาหารทะเลสากล ในการขึ้นทะเบียนกับ PVR เจ้าของเรือจับปลาทูน่าต้องแสดงให้เห็นว่ามีส่วนร่วมในการสร้างความยั่งยืน และปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติของมูลนิธิฯ

[4] รายงานการตรวจสอบล่าสุด ได้รับการเปิดเผยเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2559 : http://iss-foundation.org/update-to-issf-participating-company-compliance-report-shows-improvement-across-all-measures/