USAID จับมือ ไทยยูเนี่ยน วางระบบตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของวัตถุดิบ มุ่งขจัดการประมงผิดกฎหมายในแถบเอเชียแปซิฟิค

บรรยายใต้ภาพ: ภาพเรือประมงทางภาคใต้ของไทย

17 มีนาคม 2560 กรุงเทพฯ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ด้านความร่วมมือทางท้องทะเลและการประมง (USAID Oceans) มีความยินดีที่จะประกาศความร่วมมือในการขจัดการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) รวมทั้งส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเลที่มีจริยธรรมและความยุติธรรม และพัฒนาความยั่งยืนของการประมงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค

โดย USAID Oceans และไทยยูเนี่ยน จะให้การสนับสนุนการออกแบบและวางระบบการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบและการบันทึกข้อมูลการจับปลาแบบดิจิตอล(Digital Catch Documentation and Traceability: CDT) ในการทำประมงปลาทูน่าในประเทศไทย และประเทศอินโดนีเซีย โดยในอนาคตจะขยายขอบเขตไปยังประเทศอื่นๆ และการประมงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค นอกจากนี้ USAID Oceans และไทยยูเนี่ยน ยังจะร่วมมือกันในการพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการการประมง โดยสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ในอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเล รวมทั้งหาแนวทางเชื่อมข้อมูลเพิ่มเติมมายังระบบ CDT ซึ่งรวมถึงข้อมูลแรงงาน และการสื่อสารระหว่างลูกเรือ ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมแนวทางการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างยุติธรรม และมีความรับผิดชอบในภาคอาหารทะเล

USAID Oceans เป็นโครงการ 5 ปีที่มีมูลค่า 19.95 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมุ่งประสานความร่วมมือในระดับภูมิภาคในการขจัดการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม และส่งเสริมการทำประมงอย่างยั่งยืนเพื่อรักษาความสมดุลทางทะเลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค โครงการนี้เป็นการทำงานร่วมกันกับภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมในการออกแบบและสาธิตระบบ CDT ซึ่งจะใช้ในการเก็บและตรวจสอบข้อมูลที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในผลิตภัณฑ์อาหารทะเล อาทิเช่น การปฏิบัติอย่างถูกต้องตามกฎหมายและการเคลื่อนย้ายตั้งแต่จุดหาปลาไปจนถึงการนำเข้าไปยังตลาดสำคัญๆ โดยจะมีการสาธิตระบบในเมือง General Santos City ประเทศฟิลิปปินส์, เมือง Bitung ประเทศอินโดนีเซีย และในห่วงโซ่อุปทานของไทยยูเนี่ยนในปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นไปตามความต้องการของอุตสาหกรรม และสอดคล้องกับกฎระเบียบข้อบังคับ และมาตรฐานในการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบในระดับท้องถิ่นและระดับสากล

ไทยยูเนี่ยนเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาหารทะเลชั้นนำของโลกซึ่งมียอดขายต่อปีเกิน 134 พันล้านบาท (3.8 พันล้านเหรียญ) ความยั่งยืนเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับไทยยูเนี่ยน ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตอาหารทะเลชั้นนำ ไทยยูเนี่ยนมีความมุ่งมั่นในการผลักดันการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้เกิดขึ้นกับทั้งอุตสาหกรรม ไทยยูเนี่ยนเชื่อว่าความสามารถในการตรวจสอบแหล่งที่มาของวัตถุดิบเป็นหลักสำคัญของความยั่งยืน และบริษัทกำลังลงทุนในการทดลองนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทาน ด้วยระบบการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบแบบดิจิตอล บริษัทสามารถขจัดการประมงแบบ IUU ได้ด้วยการตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อให้มั่นใจว่าเรือต่างๆ ปฏิบัติตามกฎระเบียบ รวมทั้งติดตามมาตรฐานแรงงานที่มีอยู่ในห่วงโซ่อุปทาน ไทยยูเนี่ยนตั้งเป้าจะทำให้ได้อย่างน้อย 75 เปอร์เซ็นต์ ของผลิตภัณฑ์แบรนด์ปลาทูน่าจะมาจากการจับด้วยวิธีการที่ยั่งยืน ภายในปี 2563 ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนโดยความร่วมมือนี้

“ไทยยูเนี่ยนมีความมุ่งมั่นในการร่วมมือกับ USAID Oceans ในการขจัดการประมงแบบ IUU รวมทั้งส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานที่มีการดำเนินงานอย่างมีจริยธรรมและมีความยุติธรรม  และการพัฒนาการประมงอย่างยั่งยืนและการอนุรักษ์ท้องทะเลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค” ดร.แดเรี่ยน แมคเบน ผู้อำนวยการกลุ่มการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าว “เราเชื่อว่าความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกเพื่อความยั่งยืนของท้องทะเลในตอนนี้ และในอนาคต การมีส่วนร่วมของหน่วยงานระดับนานาชาติอย่าง USAID Oceans ไม่เพียงแต่ช่วยให้องค์กรต่างๆ ในอุตสาหกรรมเข้าใจถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในเรื่องสำคัญนี้ แต่ยังช่วยรับรองความก้าวหน้าของโครงการอีกด้วย"​

ทั้ง USAID Oceans และไทยยูเนี่ยนจะร่วมมือกันในการแสดงแนวทางการปฏิบัติที่ดีในการใช้ระบบการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบแบบดิจิตอล เพื่อให้เป็นตัวอย่างสำหรับภาคอุตสาหกรรมและภาครัฐในการแก้ปัญหาการประมงแบบ IUU  การจัดการการประมงอย่างยั่งยืน และการติดตามการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างยุติธรรม โดย USAID Oceans และไทยยูเนี่ยนจะทดสอบระบบ CDT และเครื่องมือการรายงานเกี่ยวกับแรงงานบนเรือประมงในทางใต้ของประเทศไทย โดยร่วมมือกับกรมประมง และบริษัทด้านเทคโนโลยีหลายแห่ง