ไทยยูเนี่ยนเปิดยอดขายไตรมาสแรกปี 68 รับ 2.98 หมื่นล้านบาท ด้วยกำไรสุทธิปรับปรุง ขยายตัว 9 เปอร์เซ็นต์ พร้อมทำสถิติอัตรากำไรขั้นต้นโตแกร่ง 18.8 เปอร์เซ็นต์

กรุงเทพฯ – 9 พฤษภาคม 2568 – บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU รายงานผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2568 ด้วยยอดขาย 29,789 ล้านบาท และทำอัตรากำไรขั้นต้นขยายตัวดีมาอยู่ที่ 18.8 เปอร์เซ็นต์ นับเป็นสถิติสูงสุดสำหรับการเติบโตในไตรมาสแรก พร้อมด้วยการบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องทำให้ไทยยูเนี่ยนมีงบดุลที่แข็งแกร่ง

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สำหรับภาพรวมในการดำเนินธุรกิจในไตรมาสแรกของปี 2568 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิที่ไม่รวมค่าใช้จ่ายในการทำทรานฟอร์เมชั่นตามกลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่ปี 2573 (Strategy 2030) อยู่ที่ 1,317 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 8.9 เปอร์เซ็นต์ ส่วนกำไรสุทธิ อยู่ที่ 1,019 ล้านบาท ขณะที่อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ในเกณฑ์ที่ดีคือ 1.0 เท่า ทำให้ไทยยูเนี่ยนมีความคล่องตัวและสามารถสร้างโอกาสสำหรับการลงทุนในอนาคตได้ ทั้งนี้ Strategy 2030 นับเป็นโร้ดแม็ปใหม่ เพื่อสร้างการเติบโตครั้งสำคัญของไทยยูเนี่ยน เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำของโลกในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและโภชนาการเพื่อสุขภาพจากท้องทะเล

"แม้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมจะมีความท้าทายอย่างมาก แต่เรายังคงมุ่งมั่นในการเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจหลัก ผ่านการลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาว จนสามารถสร้างผลกำไรที่ดี นอกจากนี้ เรายังคงเดินหน้าสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กร เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจให้เกิดความคล่องตัว มีประสิทธิภาพ และรวดเร็วยิ่งขึ้น การวางรากฐานการทำงานที่แข็งแกร่งกำลังเริ่มผลิดอกออกผล และจะสร้างประโยชน์และความสำเร็จให้กับองค์กรมากขึ้นในอนาคต" นายธีรพงศ์ กล่าว

สำหรับผลประกอบการตามกลุ่มธุรกิจของไทยยูเนี่ยนในไตรมาสแรกของปี พบว่า กลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงยังเติบโตต่อเนื่อง มียอดขายรวม 4,174 ล้านบาท ขยายตัว 5.5 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 24.5เปอร์เซ็นต์

ส่วนกลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแปรรูป มียอดขายรวม 14,762 ล้านบาท ปรับตัวลดลงราว 14.0 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นผลจากปริมาณความต้องการสินค้าในตะวันออกกลางในปีก่อนที่สูงมากกว่าปกติ และการลดลงของยอดขายผลิตภัณฑ์รับจ้างผลิตในยุโรป จากการที่ลูกค้ากลุ่มนี้ชะลอการสั่งซื้อสินค้า เนื่องด้วยราคาปลาที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรขั้นต้นของกลุ่มอาหารทะเลแปรรูปในไตรมาสนี้ทำได้ดีถึง 19.4 เปอร์เซ็นต์

ขณะที่กลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็ง มียอดขายรวม 8,441 ล้านบาท ลดลง 12.2 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นผลจากราคากุ้งในสหรัฐอเมริกาที่ปรับตัวสูงขึ้นทำให้ยอดขายกุ้งชะลอตัว แต่บริษัทฯ ยังคงสามารถทำอัตรากำไรขั้นต้นได้ดีขึ้นจาก 11.8 เปอร์เซ็นต์ เมื่อปีก่อน มาอยู่ที่ 12.4 เปอร์เซ็นต์ ในไตรมาสแรกปีนี้ และสุดท้ายคือกลุ่มธุรกิจสินค้าเพิ่มมูลค่าและอื่น ๆ ทำยอดขายได้ 2,412 ล้านบาท ลดลงราว 3.1 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีก่อน

จากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ไทยยูเนี่ยนยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ในกรณีที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาดำเนินการตามอัตราภาษีที่ประกาศจริง บริษัทฯ มีการคาดการณ์เรื่องการเปลี่ยนแปลงทางภาษีไว้แล้วและได้เตรียมพร้อมโดยการสำรองสินค้าทุกประเภทในสหรัฐอเมริกาไว้เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้มีสินค้าในตลาดเพียงพอสำหรับการขายราว 4-6 เดือน ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในระยะสั้น ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังคงใช้ประโยชน์จากการมีฐานการผลิตและแหล่งวัตถุดิบทั่วโลก เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดจากการขึ้นภาษีให้เหลือน้อยที่สุด โดยไทยยูเนี่ยนมีฐานการผลิต 15 แห่ง ใน 13 ประเทศ เช่น กานา เซเชลส์ โปแลนด์ สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม เป็นต้น ทำให้บริษัทฯ มีความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นจากความไม่แน่นอนทางภาษี

นอกจากนี้ ในไตรมาสแรกของปีไทยยูเนี่ยนยังได้รับการประกาศคงอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ ระดับ A แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ จาก Japan Credit Rating หรือ JCR ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากบริษัทมีศักยภาพในการเติบโตและมีธุรกิจหลากหลายอยู่ทั่วโลก ทั้งนี้ อันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศนี้อยู่ในอันดับเดียวกันกับอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ได้รับจาก JCR พร้อมกันนี้ JCR ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินในประเทศของบริษัทไว้ที่ระดับ A แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพเช่นเดียวกัน

ขณะเดียวกัน ไทยยูเนี่ยนยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับการสนับสนุนเงินกู้ด้านความยั่งยืนทางทะเล หรือ Blue Loan วงเงิน 150 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 5,000 ล้านบาท จากธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ ADB โดยเป็นการปล่อยวงเงินกู้ Blue Loan จาก ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำที่เป็นพันธมิตรทางการเงินให้กับบริษัทอาหารทะเลในประเทศไทยเป็นครั้งแรก วงเงินกู้ดังกล่าวจะถูกนำไปใช้ในการยกระดับการจัดซื้อวัตถุดิบกุ้งที่เพาะเลี้ยงอย่างยั่งยืนในประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายหลักของกลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange® 2030 ของไทยยูเนี่ยน

###

เกี่ยวกับไทยยูเนี่ยน

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU เป็นผู้นำอุตสาหกรรมอาหารทะเลระดับโลกที่นำผลิตภัณฑ์อาหารทะเลคุณภาพสูง ดีต่อสุขภาพ รสชาติอร่อย มาสู่ลูกค้าทั่วโลกตั้งแต่ปี 2520 โดยในปี 2567 ไทยยูเนี่ยนมียอดขายต่อปีกว่า 138,000 ล้านบาท และมีแรงงานทั่วโลกกว่า 45,000 คน

จากวิสัยทัศน์ในการเป็นผู้นำของโลกในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและโภชนาการเพื่อสุขภาพจากท้องทะเล ที่มีเป้าหมายสร้าง “การมีสุขภาพที่ดีและท้องทะเลที่สมบูรณ์, Healthy Living, Healthy Oceans” ส่งผลให้ไทยยูเนี่ยนมีธุรกิจที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นอาหารทะเลแปรรูป, อาหารทะเลแช่แข็ง, สินค้าเพิ่มมูลค่า, โปรตีนทางเลือก, อาหารสัตว์เลี้ยง และ อาหารสัตว์น้ำแบบยั่งยืน นอกจากนี้ ยังมีแบรนด์อาหารทะเลแปรรูประดับโลกอย่าง Chicken of the Sea, John West, Petit Navire, Parmentier, Mareblu, King Oscar, Hawesta, Rügen Fisch และซีเล็ค

ไทยยูเนี่ยนมีกลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange®2030 ที่ครอบคลุมทั้งมิติของผู้คนและสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกัน ยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices: DJSI) สำหรับตลาดเกิดใหม่เป็นปีที่ 11 ติดต่อกัน และยังได้รับการคัดเลือกให้ติดอันดับดัชนี FTSE4Good Emerging Index เป็นปีที่ 9 ติดต่อกัน สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืนได้ที่ seachangesustainability.org และ www.thaiunion.com 

###

ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ

กัญญารัตน์ เกียรติชัยรินทร์ 064-949-6594 หรือ media@thaiunion.com