ไทยยูเนี่ยน เปิดปีอย่างแข็งแกร่งโชว์กำไรสุทธิไตรมาสแรกขยายตัว 53.9 เปอร์เซ็นต์ ทะลุ 1.2 พันล้านบาท รับ 3 ธุรกิจหลักโตต่อเนื่อง

กรุงเทพฯ 8 พฤษภาคม 2567 บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU รายงานผลประกอบการประจำไตรมาสแรกปี 2567 ที่เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยยอดขาย 33,220 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.7 เปอร์เซ็นต์ มีอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นเป็น 17.3 เปอร์เซ็นต์ จากการเติบโตของกลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็ง กลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง และกลุ่มสินค้ามูลค่าเพิ่มและธุรกิจอื่น ๆ ขณะที่อัตรากำไรสุทธิหลังการปรับปรุงส่วนแบ่งกำไรและผลประโยชน์ทางภาษีจาก Red Lobster แล้ว มีความสามารถในการเติบโตที่ดีมากถึง 53.9 เปอร์เซ็นต์ หรือ 1,200 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อน ผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งเป็นผลจากการฟื้นตัวของความต้องการสินค้าในกลุ่มธุรกิจหลัก คือ กลุ่มธุรกิจอาหารกระป๋อง กลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง และกลุ่มสินค้ามูลค่าเพิ่มและธุรกิจอื่น ๆ นอกจากนี้ ไทยยูเนี่ยนยังดำเนินโครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารทางการเงินครั้งที่ 3 ตามแผนอย่างต่อเนื่อง และยังมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนในเกณฑ์ที่ดีคือ 0.82 เท่า ณ สิ้นไตรมาสแรก สะท้อนให้เห็นถึงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัทฯ

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "การที่ไทยยูเนี่ยนมุ่งให้ความสำคัญกับธุรกิจหลักในกลุ่มธุรกิจอาหารกระป๋อง, กลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็ง และโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีอัตราการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ นับเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจให้กลับมาเติบโตพร้อมสร้างผลกำไรและมูลค่าเพิ่มได้อย่างแข็งแกร่ง โดยในปี 2566 ที่ผ่านมาไทยยูเนี่ยนได้แสดงให้เห็นว่าเราสามารถรับมือและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ท้าทายได้รวดเร็วและเป็นอย่างดี ทำให้ธุรกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา และมั่นใจว่าการเดินหน้าในครั้งนี้จะเป็นปัจจัยบวกทำให้ไทยยูเนี่ยนเติบโตอย่างยั่งยืนและแข็งแกร่งในที่สุด”

สำหรับผลประกอบการตามกลุ่มธุรกิจในไตรมาสแรก พบว่า กลุ่มธุรกิจอาหารกระป๋อง มียอดขายเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 12.7 เปอร์เซ็นต์ หรือ 17,156 ล้านบาท นับเป็นปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นถึง 12.7 เปอร์เซ็นต์ สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ เป็นผลจากปริมาณความต้องการสินค้าที่ขยายตัวในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง ยุโรป และสหรัฐอเมริกาเป็นปัจจัยบวกทำให้เติบโต ขณะที่อัตราส่วนกำไรขั้นต้นของธุรกิจอาหารกระป๋อง ปรับตัวลดลงเป็น 16.6 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากการปรับราคาขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบในการผลิต ในส่วนของกลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง ยอดขายปรับเพิ่มขึ้นถึง 13.2 เปอร์เซ็นต์ จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ 3,955 ล้านบาท จากการนำกลยุทธ์เพิ่มสัดส่วนการขายสินค้าพรีเมียมและการปรับปรุงราคาสินค้า ส่งผลให้อัตราส่วนกำไรขั้นต้นเติบโตอย่างแข็งแกร่งเป็น 25.7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่สองปี 2565

ส่วนกลุ่มสินค้ามูลค่าเพิ่มและธุรกิจอื่น ๆ มียอดขายในไตรมาสแรกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 29.5 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกปีที่แล้วมีอัตราเติบโตดีขึ้น 10.8 เปอร์เซ็นต์ โดยปัจจัยสนับสนุนการเติบโตมาจากการมีสินค้าที่หลากหลาย ส่วนกลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็ง มียอดขายที่ชะลอตัวลง 17.7 เปอร์เซ็นต์ จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการสินค้าในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ชะลอตัว ประกอบกับบริษัทฯ มีการปรับลดขนาดการดำเนินธุรกิจในประเทศสหรัฐอเมริกาลง โดยสัดส่วนธุรกิจของไทยยูเนี่ยนในประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา คิดเป็นอัตรา 38.6 เปอร์เซ็นต์ของรายได้รวมทั้งหมด รองลงมาเป็น ยุโรป 29.6 เปอร์เซ็นต์ ไทย 10.9 เปอร์เซ็นต์ และ อื่นๆ อีก 20.9 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบกำไรสุทธิของบริษัทฯ ในไตรมาสที่ผ่านมากับกำไรสุทธิที่ปรับปรุงในช่วงเดียวกันปี 2566 นับเป็นการขยายตัวที่ดีและแข็งแกร่ง โดยปัจจัยสำคัญมาจากภาพรวมของทุกกลุ่มธุรกิจที่เติบโตขึ้น แม้ว่าจะมีผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ลดลง ส่วนแบ่งกำไรที่น้อยลง รวมถึงต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น และมีค่าใช้จ่ายทางด้านภาษีที่มากขึ้นก็ตาม

ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ผ่านมา Japan Credit Rating หรือ JCR ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของประเทศญี่ปุ่นปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของไทยยูเนี่ยนจาก A- ไปเป็น A แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ โดยอยู่ในอันดับเดียวกับอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอีกด้วย

ขณะเดียวกัน บริษัทยังคงมุ่นมั่นในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับฐานะทางการเงิน ส่งผลให้ไทยยูเนี่ยนมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่เกณฑ์ที่ดี 0.82 เท่า ณ สิ้นไตรมาสแรก ปี 2567 ซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับที่บริษัทตั้งเกณฑ์ไว้ และเมื่อต้นปี 2567 ไทยยูเนี่ยนมีมติอนุมัติโครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารทางการเงินครั้งที่ 3 ในวงเงินไม่เกิน 3,600 ล้านบาท และไม่เกิน 200 ล้านหุ้น เพื่อแสดงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัทสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ถือหุ้น รวมถึงช่วยเพิ่มกำไรต่อหุ้นให้ดีขึ้น โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2567 บริษัทฯ ได้ดำเนินการซื้อหุ้นคืนแล้วจำนวน 86 ล้านหุ้น พร้อมตั้งเป้าว่าจะสามารถทำได้แล้วเสร็จตามกำหนดในเดือนมิถุนายน ปี 2567

นอกจากนี้ ไทยยูเนี่ยน ยังคงเดินหน้าพันธกิจด้านความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสแรกได้ประกาศความสำเร็จ โครงการลดการปล่อยน้ำทิ้งสู่สาธารณะเป็นศูนย์ (Zero Wastewater Discharge) ในฐานะโรงงานอาหารทะเลต้นแบบที่สร้างมาตรฐานด้านการบริหารจัดการน้ำทิ้งในระบบได้สำเร็จเป็นรูปธรรม 100 เปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกัน ยังได้ร่วมกับ องค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติระดับโลก The Nature Conservancy (TNC) และ บริษัท อาโฮลด์ เดอแลซ สหรัฐอเมริกา (Ahold Delhaize USA) หนึ่งในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกระดับโลก เปิดตัวโครงการนำร่องเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกระบวนการเลี้ยงกุ้ง ตั้งเป้าสร้างการเปลี่ยนแปลงในการเลี้ยงสัตว์น้ำแบบก้าวกระโดดและยั่งยืน รวมถึง การที่บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ได้รับการรับรองมาตรฐานอาหารสัตว์ระดับโลกจากองค์กร Aquaculture Stewardship Council หรือ ASC เป็นแห่งแรกในเอเชีย เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ในการผลิตอาหารสัตว์อย่างยั่งยืนให้กับภูมิภาคนี้

"ผมมั่นใจว่าแผนยุทธศาสตร์องค์กรเพื่อมุ่งสู่ปี 2573 จะช่วยเตรียมความพร้อมและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว เพื่อดูแลสุขภาพที่ดีของผู้คน สัตว์เลี้ยง ควบคู่กับการดูแลโลกใบนี้ จากเป้าหมายปัจจุบันที่ไทยยูเนี่ยนมุ่งสร้าง "การมีสุขภาพที่ดีและท้องทะเลที่อุดมสมบูรณ์ หรือ Healthy Living, Healthy Oceans" นี่จึงนับเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นและใส่ใจกับการขับเคลื่อนการเติบโตอย่างมีความรับผิดชอบและยั่งยืน” นายธีรพงศ์ กล่าว

###

เกี่ยวกับ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นผู้นำด้านอาหารทะเลระดับโลกที่นำผลิตภัณฑ์อาหารทะเลคุณภาพสูง ดีต่อสุขภาพ อร่อย และสร้างสรรค์ มาสู่ลูกค้าทั่วโลกมา 47 ปี

ปัจจุบัน ไทยยูเนี่ยนถือได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาหารทะเลชั้นนำของโลกและเป็นหนึ่งในผู้ผลิตปลาทูน่าในบรรจุภัณฑ์ชนิดต่างๆ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมียอดขายต่อปีเกินกว่า 136,153 ล้านบาท (3,912 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และแรงงานทั่วโลกกว่า 44,000 คน ที่ทุ่มเทให้กับการบุกเบิกผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่สร้างสรรค์และยั่งยืน

ปัจจุบันไทยยูเนี่ยนเป็นเจ้าของแบรนด์ทั่วโลก ประกอบด้วย แบรนด์ที่เป็นผู้นำตลาดโลกอย่าง Chicken of the Sea, John West, Petit Navire, Parmentier, Mareblu, King Oscar, Hawesta และ Rügen Fisch รวมทั้งแบรนด์ชั้นนำในประเทศไทย ได้แก่ ซีเล็ค ฟิชโช คิวเฟรช โมโนริ OMG MEAT เบลลอตต้า และมาร์โว่ นอกจากนี้ยังมีส่วนประกอบอาหารภายใต้แบรนด์ UniQ®BONE และ UniQ®DHA และผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพแบรนด์ ZEAvita

ไทยยูเนี่ยนมีเป้าหมายเพื่อสร้าง "การมีสุขภาพที่ดีและท้องทะเลที่อุดมสมบูรณ์, Healthy Living, Healthy Oceans" โดยให้ความสำคัญกับสุขภาพผู้คน ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ท้องทะเล เราภาคภูมิใจในการเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact: UNGC) พร้อมทั้งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิเพื่อความยั่งยืนของอาหารทะเลสากล (International Seafood Sustainability Foundation: ISSF) และได้รับเกียรติเป็นเป็นประธาน SeaBOS หรือ Seafood Business for Ocean Stewardship

ไทยยูเนี่ยนได้ประกาศกลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange® 2030 พร้อมขยายขอบเขตการทำงานด้านความยั่งยืนให้ครอบคลุมมิติของผู้คนและสิ่งแวดล้อม ไทยยูเนี่ยนดำเนินงานด้านความยั่งยืนโดยยึดหลักกลยุทธ์ SeaChange® ที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ จากผลการประเมินงานด้านความยั่งยืนปี 2565 บริษัทได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices: DJSI) สำหรับตลาดเกิดใหม่เป็นปีที่ 10 ติดต่อกัน และยังได้รับการจัดอันดับในดัชนี Seafood Stewardship Index (SSI) เป็นอันดับหนึ่ง 3 ปีติดต่อกัน และในปี 2566 ได้รับการจัดอันดับอยู่ใน S&P Global Sustainability Yearbook 2023 ตลอดจนได้รับผลการประเมินดัชนีชี้วัดความยั่งยืนระดับ B จากสถาบันประเมินความยั่งยืนที่น่าเชื่อถือระดับโลก Carbon Disclosure Project (CDP) สะท้อนความความโปร่งใสและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ในปี 2566 ไทยยูเนี่ยนยังได้รับการคัดเลือกให้ติดอันดับดัชนี FTSE4Good Emerging Index เป็นปีที่ 8 ติดต่อกัน สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืนได้ที่ seachangesustainability.org.