โครงการ SPACE-F รุ่นที่ 3 ขับเคลื่อนนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านอาหารแห่งภูมิภาคเอเชียด้วยโครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบทางธุรกิจ (Incubator and Accelerator Program) ระดับโลก

กรุงเทพมหานคร – 25 มีนาคม 2565 – โครงการ SPACE-F รุ่นที่ 3 ขับเคลื่อนนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านอาหารแห่งภูมิภาคเอเชียด้วยโครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบทางธุรกิจ (Incubator and Accelerator Program) ระดับโลก

SPACE-F ซึ่งเป็นโครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตของสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหารแห่งแรกในประเทศไทย ประกาศเปิดตัวโครงการรุ่นที่ 3 ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ซึ่งโครงการดังกล่าวได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการในต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 โดยมีสตาร์ทอัพรวม 18 บริษัทที่ลงทะเบียนเข้าร่วมจากทั้งประเทศไทย สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส ฮ่องกง และ โปแลนด์

โครงการนี้ก่อตั้งขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติหรือ NIA, บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งโครงการ SPACE-F ดำเนินการตามหลักสูตรเฉพาะที่ออกแบบให้มีการสื่อสารโต้ตอบและลงมือปฏิบัติจริง เพื่อช่วยให้สตาร์ทอัพสามารถเดินหน้าพัฒนาต่อยอดธุรกิจได้ทั้งในแง่การพัฒนาสินค้าให้เหมาะสมกับตลาดตลอดจนแก้ไขปัญหาต่างๆ ของบริษัทได้“SPACE-F เป็นโครงการระดับนานาชาติที่ดำเนินการโดย NIA และพันธมิตร เพื่อเปิดรับสตาร์ทอัพด้านอาหารจากทั่วโลกที่มีความสนใจจะเข้าสู่ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าร่วมกิจกรรม” ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ NIA กล่าว “เราทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมสนับสนุนสตาร์ทอัพเพื่อเพิ่มมูลค่าที่ยั่งยืนให้กับระบบนิเวศของเทคโนโลยีอาหารและนวัตกรรมด้านอาหารของประเทศไทย และเพื่อขับเคลื่อนกรุงเทพฯ ให้เป็น FoodTech Silicon Valley ของโลก”

“ไทยยูเนี่ยนมีความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องที่จะดูแลช่วยเหลือเกี่ยวกับการลงทุนในบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ SPACE-F รวมถึงรุ่นที่ 3 นี้ด้วยเช่นกัน” ลูโดวิค การ์นิเยร์ ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการเงินกลุ่ม บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าว

“ด้วยความรู้จากผู้เชี่ยวชาญที่บ่มเพาะจากวัฒนธรรมการวิจัยเชิงลึก มหาวิทยาลัยมหิดลไม่เพียงแต่ให้การสนับสนุนด้านเทคนิคและวิทยาศาสตร์แก่สตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการเท่านั้น แต่ยังตั้งเป้าที่จะปรับแต่งโซลูชั่นต่างๆเพื่อให้ตรงกับความต้องการเฉพาะของสตาร์ทอัพแต่ละรายด้วย” ดร.พรรณวจี พยงค์ศรี อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเพิ่มเติม “เป้าหมายของเราคือการช่วยพัฒนา และขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรแบบจำลองผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อความต้องการของสตาร์ทอัพแต่ละราย”

เราภูมิใจที่จะประกาศรายชื่อสตาร์ทอัพที่จะเข้าร่วมโครงการ Accelerator ในปีนี้ ได้แก่:

  • WeavAir ประเทศแคนาดา
  • Nabsolute ประเทศไทย
  • EniferBio ประเทศฟินแลนด์
  • Potent Fungi ประเทศไทย
  • Mi Terro ประเทศสหรัฐอเมริกา
  • EnerGaia ประเทศไทย
  • More Meat ประเทศไทย
  • Jamulogy ประเทศไทย
  • Kinnva ประเทศสิงคโปร์

นอกจากนี้ สตาร์ทอัพที่จะเข้าร่วมโครงการ Incubator ประกอบด้วย:

  • Phagos ประเทศฝรั่งเศส
  • Balance Corp ประเทศไทย
  • Kokoonic ประเทศไทย
  • MakeGrowLab ประเทศโปแลนด์
  • MUU ประเทศไทย
  • POWCO ประเทศไทย
  • Tasted Better ประเทศไทย
  • Pet Dynamic ฮ่องกง
  • Mercy Foie Gras ประเทศไทย

ด้วยพันธกิจขององค์กรในการ “สร้างสรรค์และแบ่งปันคุณค่าแห่งการเติบโต” ไทยเบฟจึงเข้ามาเป็นหนึ่งในองค์กรผู้สนับสนุนโครงการนี้ “SPACE-F ถือเป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรขนาดใหญ่, นักวิชาการ, สตาร์ทอัพ และการสนับสนุนจากองค์กรแนวหน้าและบริษัทที่ปรึกษา ทำให้เกิดระบบนิเวศที่ส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการ เป็นสูตรที่สมบูรณ์แบบสำหรับการสร้างนวัตกรรมและการเป็นผู้ประกอบการ” นางต้องใจ ธนะชานันท์ รองประธานอาวุโส และหัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน ไทยเบฟ กล่าวปิดท้าย

เกี่ยวกับ NIA

ภารกิจของ NIA คือการสนับสนุนและพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศไทย ทั้งในด้านการปรับปรุงและการริเริ่ม เพื่อส่งเสริมการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน NIA ทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนนวัตกรรมของประเทศโดยการร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เชื่อมโยงกลุ่มคนและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ให้ความช่วยเหลือ และร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ จากหลากหลายแขนง เช่น ด้านวิชาการ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม การเงิน และการลงทุน โดยเน้นที่การใช้การจัดการความรู้เพื่อให้เกิดนวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อส่งเสริมการทํางานในรูปแบบเครือข่ายวิสาหกิจนวัตกรรม ซึ่งใช้นวัตกรรมเป็นเครื่องมือหลักในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตและขับเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจที่มีการแข่งขันสูงขึ้น

เกี่ยวกับไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นผู้นำด้านอาหารทะเลระดับโลกที่นำผลิตภัณฑ์อาหารทะเลคุณภาพสูง ดีต่อสุขภาพ อร่อย และสร้างสรรค์ มาสู่ลูกค้าทั่วโลกเป็นเวลากว่า 45 ปี

ปัจจุบัน ไทยยูเนี่ยนถือได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาหารทะเลชั้นนำของโลก และเป็นหนึ่งในผู้ผลิตปลาทูน่าในบรรจุภัณฑ์ชนิดต่างๆที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมียอดขายต่อปีสูงกว่า 141.0 พันล้านบาท (4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ) และมีพนักงานทั่วโลกรวมกันมากกว่า 44,000 คน ที่ทุ่มเทให้กับการคิดค้นผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่สร้างสรรค์และยั่งยืน

ไทยยูเนี่ยนเป็นเจ้าของแบรนด์ทั่วโลก ประกอบด้วย แบรนด์ที่เป็นผู้นำตลาดโลกอย่าง Chicken of the Sea, John West, Petit Navire, Parmentier, Mareblu, King Oscar และ Rügen Fisch รวมทั้งแบรนด์ชั้นนำในประเทศไทย ได้แก่ ซีเล็ค ฟิชโช คิวเฟรช โมโนริ OMG Meat, เบลลอตต้า และมาร์โว่ นอกจากนี้ยังมีแบรนด์ส่วนประกอบอาหารและอาหารเสริมอย่าง UniQTMBONE, UniQTMDHA และ ZEAvita

จากพันธกิจในการเป็นบริษัทแห่งนวัตกรรมและดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบระดับโลก ไทยยูเนี่ยนภูมิใจที่ได้เป็นหนึ่งในภาคีข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact) และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิเพื่อความยั่งยืนของอาหารทะเลสากล (International Seafood Sustainability Foundation: ISSF) ในปี 2558 ไทยยูเนี่ยนเปิดตัวกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน SeaChange® และดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาโดยตลอด จนส่งผลให้ไทยยูเนียนได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI) สำหรับตลาดเกิดใหม่ 8 ปีติดต่อกัน โดยในปี 2564 ได้รับเลือกเป็นบริษัทอันดับ 2 ของกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร นอกจากนี้ไทยยูเนี่ยนยังได้รับการคัดเลือกให้ติดอันดับดัชนี FTSE4Good Emerging Index เป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน

เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยมหิดล

มหาวิทยาลัยมหิดลมีต้นกำเนิดมาจากการก่อตั้งโรงพยาบาลศิริราชในปี พ.ศ. 2431 โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) และโรงเรียนแพทย์ของโรงพยาบาลศิริราชก็เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย สถาบันแห่งนี้ยังเปิดสอนหลักสูตรในสาขาวิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ รวมไปถึงหลักสูตรระดับปริญญาเอกส่วนใหญ่ในประเทศไทยด้วย ขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาความเป็นเลิศดั้งเดิมในด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์เอาไว้

เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2550 สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้อนุมัติให้มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นสถาบันอิสระ การเปลี่ยนแปลงนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ความยืดหยุ่น และความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมของมหาวิทยาลัย และยังช่วยสร้างมาตรฐานการปฏิบัติเฉกเช่นกับมหาวิทยาลัยระดับโลกอื่น ๆ

เกี่ยวกับบริษัทไทยเบฟ จำกัด มหาชน

บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ("ไทยเบฟ") ก่อตั้งขึ้นในประเทศไทยในปี 2546 โดยมีจุดประสงค์เพื่อรวมกิจการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเบียร์และสุราชั้นนำของไทยที่เป็นของผู้ถือหุ้นและผู้ร่วมทุนรายอื่นๆ เข้ามาเป็นกลุ่มบริษัท ต่อมาในปี 2549 ไทยเบฟได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (SGX) และภายหลังจากจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ไทยเบฟได้ขยายขอบเขตธุรกิจจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปสู่ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และอาหาร เพื่อเพิ่มความหลากหลายของสินค้าเพิ่มประสิทธิผลในช่องทางการกระจายสินค้า รวมถึงกระจายความเสี่ยงของกิจการ ในปัจจุบันไทยเบฟไม่เพียงแต่เป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มชั้นนำในประเทศไทย แต่ยังเป็นผู้ผลิตที่ใหญ่ที่สุดรายหนึ่งในเอเชียอีกด้วย โดยแบ่งธุรกิจออกเป็น 4 สายธุรกิจ ได้แก่ สุรา เบียร์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และอาหาร