มติบอร์ดทียูเอฟ อนุมัติการเข้าซื้อกิจการ MW BRANDS

ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2553 มีมติอนุมัติการเข้าซื้อกิจการ MW Brands (MWB) เต็ม 100% จาก Trilantic Capital Partners

MW Brands เป็นหนึ่งในผู้นำด้านผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าและอาหารทะเลในตลาดยุโรป ภายใต้แบรนด์ John West, Petit Navire, Hyacinthe Parmentier และ Mareblu ซึ่งเป็นแบรนด์ชั้นนำในตลาดฝรั่งเศส อังกฤษ ไอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ และอิตาลี ปัจจุบัน MWB ถือครองโดย Trilantic Capital Partners ซึ่งเป็นกองทุนส่วนบุคคล โดยมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการถึง 3.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ Trilantic ได้เข้าซื้อ MWB จาก HJ Heinz ตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก็สามารถสร้างผลกำไรได้อย่างต่อเนื่อง โดยผลการดำเนินงานล่าสุด เมื่อ 31 มีนาคม 2553 MWB มียอดขายสูงถึง 448 ล้านยูโร โดยมูลค่าของสินทรัพย์เท่ากับ 559 ล้านยูโร

สำหรับการเข้าลงทุนใน MWB ของทียูเอฟนั้น ทียูเอฟจะเข้าลงทุนเต็ม 100% ซึ่งมีมูลค่าเท่ากับ 680 ล้านยูโร หรือประมาณ 28.5 พันล้านบาท โดยการจ่ายเงินสด ซึ่งมีการจัดหาแหล่งเงินทุนในการเข้าซื้อกิจการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว การเข้าลงทุนนี้ บริษัทจะต้องขอมติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น เพื่ออนุมัติการดำเนินการดังกล่าว รวมทั้งการตรวจสอบเกี่ยวกับ anti-trust จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย

หากการดำเนินการประสบความสำเร็จ จะทำให้ทียูเอฟกลายเป็นผู้ผลิตปลาทูน่าบรรจุกระป๋องรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยจะสามารถแปรรูปวัตถุดิบปลาทูน่าได้ถึง 500,000 ตันต่อปี และในแง่ของรายได้แล้ว ทียูเอฟจะกลายเป็นบริษัทผลิตอาหารทะเลรายใหญ่ที่สุดของโลก นอกจากนั้นแล้ว ทียูเอฟจะเป็นหนึ่งในไม่กี่บริษัทอาหารทะเลที่มีเครือข่ายครอบคลุมไปทั่วโลก และผลจากการนี้ก็จะทำให้สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายของกระบวนการผลิตทั้งหมดเข้าไว้ด้วย คือ ตั้งแต่การผลิต การขาย การกระจายสินค้า และการมีแบรนด์ชั้นนำในเอเชีย อเมริกา และยุโรป ปัจจุบันทียูเอฟมีสัดส่วนยอดขายที่มาจากตลาดยุโรป 11% ของสัดส่วนยอดขายทั้งหมด ซึ่งถ้าการลงทุนประสบความสำเร็จจะช่วยให้สัดส่วนยอดขายในตลาดนี้เติบโตมากขึ้น  

ทั้งนี้ นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหารทียูเอฟ กล่าวถึงการลงทุนใน MWB ว่า "ถือเป็นโอกาสที่ดีมากสำหรับการรวมจุดแข็งต่างๆ ของตลาดอาหารทะเลในโลกเข้าไว้ด้วยกัน โดยเชื่อว่า การรวมกันในครั้งนี้ 
จะช่วยส่งเสริมธุรกิจซึ่งกันและกัน สามารถสร้างกลยุทธ์ด้านการตลาดที่แข็งแกร่งขึ้น ซึ่งจะทำให้บริษัทกลายเป็นผู้นำทางด้านอาหารทะเลของโลกที่สามารถเข้าถึงแหล่งซัพพลายและตลาดผู้บริโภคได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว นอกจากนั้นประโยชน์ของการเข้าลงทุนดังกล่าวก็จะทำให้บริษัทมีโรงงานแปรรูปเพิ่มขึ้นอีก 4 แห่ง ในประเทศฝรั่งเศส โปรตุเกส เซเชลส์ และกานา ปัจจุบันบริษัทมีโรงงานแปรรูปทั้งหมด 5 แห่งคือ ประเทศไทย (สมุทรสาครและสงขลา) อินโดนีเซีย เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกันกองเรือจับปลาที่ปัจจุบันมีอยู่แล้ว 4 ลำจะเพิ่มขึ้นอีก 5 ลำ เป็นทั้งหมด 9 ลำ นอกจากการเพิ่มศักยภาพทางด้านฐานการผลิต การตลาด และแหล่งวัตถุดิบให้กับบริษัทแล้ว ความแข็งแกร่งทางธุรกิจและการมีเครือข่ายที่มั่นคงของ MWB ในยุโรปจะช่วยเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจ และสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงให้กับทียูเอฟจากฐานลูกค้าที่มีอยู่และการเป็นผู้นำแบรนด์ในตลาดยุโรป และเรามีความเป็นยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อนรับพนักงานทั้งหมดของ MWB เข้ามาเป็นหนึ่งในครอบครัวของไทยยูเนี่ยน"

นอกจากนี้นายโจ โคเฮน ซึ่งเป็นหุ้นส่วนของ Trilantic Capital Partners กล่าวเสริมว่า "เรามีความภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมกับ MWB ตั้งแต่แรก หลังจากเข้าซื้อมาจาก Heinz จนปัจจุบัน MWB กลายเป็นบริษัทอาหารทะเลบรรจุกระป๋องชั้นนำในยุโรป และเราเชื่อว่า ทียูเอฟ เป็นผู้ซื้อที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการทำดีลนี้ โดยเชื่อว่าจะสามารถร่วมกำหนดและดำเนินกลยุทธ์ต่างๆ กับ MWBได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่การจัดซื้อจัดหาวัตถุดิบ การคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ตลอดจนการสร้างการเติบโตของยอดขายจากทั่วโลก นอกจากนี้ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งคือ นับเป็นก้าวที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจทางด้านผลิตภัณฑ์อาหารทะเลอย่างยั่งยืน"   

สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2552 บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) มีรายได้จากการขายในรูปของบาทเท่ากับ 68.9 พันล้านบาท หรือประมาณ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยทำกำไรทั้งปีเท่ากับ 3.3 พันล้านบาท และ EBITDA อยู่ที่ 6 พันล้านบาท โดยในปีที่ผ่านมาสินค้าปลาทูน่ามีสัดส่วนยอดขายเป็นอันดับหนึ่ง คือ 44% รองลงมาคือ กุ้งแช่แข็ง 20% อาหารแมวบรรจุกระป๋อง 9% อาหารทะเลบรรจุกระป๋อง 9% อาหารกุ้ง 6% ปลาซาร์ดีนและปลาแมคเคอเรลบรรจุกระป๋อง 4% ปลาหมึกแช่แข็ง 3% และอื่นๆ อีก 5% โดยล่าสุดผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2553 บริษัทสามารถทำยอดขายในรูปเงินบาทเท่ากับ 16.3 พันล้านบาท และยอดขายในรูปเงินเหรียญสหรัฐเท่ากับ 498 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่กำไรสุทธิเท่ากับ 831.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.3% เมื่อเทียบไตรมาสแรกของปี 2552 และเพิ่มขึ้น 15.8% เมื่อเทียบกับกำไรในไตรมาส 4/2552 โดยกำไรต่อหุ้นในไตรมาสแรกนี้เท่ากับ 0.94 บาท

ราคาหุ้นของบริษัท เมื่อวานนี้ (27 ก.ค. 53) ปิดที่ 47. 75 บาท เพิ่มขึ้น 2.69% จากราคาปิดที่ 46.50 บาท เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 53โดยมีมูลค่าการซื้อขายที่ 264.4 ล้านบาท

Trilantic Capital Partners เป็นกองทุนส่วนบุคคลที่มีสำนักงานในยุโรป และสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีสินทรัพย์ในการดูแลและจัดการเป็นจำนวน 3.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะเน้นการลงทุนในธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจอุตสาหกรรม ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจด้านการเงิน และธุรกิจด้านการบริการ

สำหรับที่ปรึกษาการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวประกอบด้วย บริษัทมอร์แกน สแตนเลย์ และบมจ. หลักทรัพย์บัวหลวง ซึ่งทั้ง 2 บริษัทจะเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับ TUF ในขณะที่ UBS จะเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับ Trilantic

 

แผนกสื่อสารองค์กร 
บมจ. ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด 
โทร. 0-2298-0024 ต่อ 675-678