"ทียูเอฟ" โชว์ยอดขายเงินบาททั้งปี ทะลุหลักแสนล้านบาท

ทียูเอฟ ประกาศผลประกอบการประจำปี 2555 ตัวเลขยอดขายรูปเงินบาททะลุหลักแสนล้านอยู่ที่ 106,698 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 8% ขณะที่ยอดขายรูปเงินเหรียญสหรัฐโต 6% เช่นเดียวกัน สำหรับปีที่ผ่านมาบริษัทต้องเผชิญกับความผันผวนหลายเรื่องทั้งปี เช่น เหตุการณ์เพลิงไหม้โรงงานกุ้ง ราคาวัตถุดิบ และค่าเงินบาท แต่บริษัทยังสามารถทำยอดขายเติบโตอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ยังเชื่อมั่นปีนี้จะสามารถสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ทียูเอฟ ผู้นำด้านอาหารทะเลที่มีนวัตกรรมและคุณภาพ และมีแบรนด์ชั้นนำระดับโลกชี้แจงถึงผลการดำเนินงานประจำปี 2555 ว่า "บริษัทสามารถทำรายได้จากการขายในรูปเงินบาทเท่ากับ 106,698 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ที่มีรายได้รูปเงินบาทเท่ากับ 98,670 ล้านบาท ขณะที่รายได้จากการขายในรูปของเงินเหรียญสหรัฐก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน จาก 3,232 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2554 เป็น 3,441 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2555 หรือเพิ่มขึ้น 6% โดยกำไรสุทธิทั้งปีเท่ากับ 4,694 ล้านบาท ลดลงจากปี 2554 ที่มีกำไรสุทธิเท่ากับ 5,117 ล้านบาท หรือลดลง 8%

ส่วนผลการดำเนินงานรายไตรมาสนั้น ในไตรมาส 4/2555 บริษัทมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้นทั้งในรูปของเงินบาทและเงินเหรียญสหรัฐ แม้ว่าจะต้องเผชิญกับอุปสรรคต่างๆ หลายประการตลอดปี 2555 แต่บริษัทยังมุ่งมั่นทำผลงานให้ออกมาในระดับที่ดี โดยสามารถทำรายได้จากการขายรูปเงินบาททั้งปีเท่ากับ 26,309 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.1% เมื่อเทียบกับปี 2554 ที่เท่ากับ 26,000 ล้านบาท และมีรายได้ในรูปของเงินเหรียญสหรัฐทั้งปีเท่ากับ 861 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.3% เมื่อเทียบกับปี 2554 ที่เท่ากับ 837 ล้านเหรีญสหรัฐ ขณะที่กำไรสุทธิในไตรมาสนี้เท่ากับ 612 ล้านบาท ลดลง 60% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

สำหรับสัดส่วนรายได้ของบริษัทซึ่งแบ่งตามผลิตภัณฑ์หลัก 6 กลุ่มธุรกิจ ประจำปี 2555 กลุ่มธุรกิจปลาทูน่า มีสัดส่วน 49% กลุ่มธุรกิจกุ้งและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกุ้ง 23% กลุ่มธุรกิจปลาซาร์ดีนและปลาแมคเคอเรล 6% กลุ่มธุรกิจปลาแซลมอน 4% กลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง 7% และกลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มและผลิตภัณฑ์อื่นๆ 11% ขณะที่สัดส่วนรายได้ของบริษัทโดยแบ่งตามตลาดมีดังนี้ สหรัฐอเมริกา มีสัดส่วน 36% สหภาพยุโรป 30% ขายในประเทศ 10% ญี่ปุ่น 9% และประเทศอื่นๆ 15%

จากตัวเลขผลการดำเนินงานที่ออกมา นายธีรพงศ์ กล่าวว่า "ปีนี้มีปัจจัยที่ท้าทายต่อการดำเนินธุรกิจมาก ความผันผวนจากปัจจัยต่างๆ มีเข้ามาอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 4 โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาวัตถุดิบปลาทูน่าที่ผันผวนจากที่ระดับราคาสูงสุด 2,350 เหรียญสหรัฐต่อตันในช่วงเดือนกันยายน และลดลงมาอย่างรวดเร็วที่ระดับราคา 1,900 เหรียญสหรัฐต่อตันช่วงปลายปี ทำให้ส่งผลต่ออัตราการทำกำไรในไตรมาส 4 ขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญกับวัตถุดิบกุ้งที่มีความผันผวนตลอดเวลา เพราะการเกิดโรคระบาด EMS (Early Mortality Syndrome) อย่างรุนแรง ทำให้ผลผลิตกุ้งไม่เพียงพอต่อการผลิต และราคากุ้งสูงขึ้น นอกจากนี้ธุรกิจในสหรัฐอเมริกาไม่เติบโตตามที่คาดไว้ เนื่องจากการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงและเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี บริษัทเชื่อว่า ปัจจัยท้าทายดังกล่าวข้างต้น จะเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาอันสั้น ซึ่งถ้าพิจารณาจากผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรก จะเห็นว่า บริษัทยังมีการเติบโตดีอยู่ โดยเฉพาะในไตรมาส 3 สามารถสร้าง New High ของยอดขายและกำไรได้อย่างโดดเด่น และถึงแม้ว่าภาพรวมทั้งปีจะไม่สามารถทำกำไรได้ตามเป้าหมาย แต่บริษัทยังมีกำไรจากการทำธุรกิจ เนื่องจากปีนี้เกิดความผันผวนต่างๆ ที่เข้ามาต่อเนื่อง เช่น เหตุการณ์เพลิงไหม้ ราคาวัตถุดิบปลาทูน่าและกุ้ง รวมถึงรายการพิเศษทางบัญชีที่เกิดขึ้นในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ที่ต้องรับรู้ค่าใช้จ่ายส่วนที่เหลือของเงินกู้ยืมจากการซื้อเอ็มดับบลิว แบรนด์ส จำนวน 407 ล้านบาท ซึ่งหากไม่มีเหตุกาณ์พิเศษนี้ กำไรสุทธิทั้งปีจะเท่ากับ 5,101 ล้านบาท ซึ่งจะลดลงจากกำไรสุทธิของปีก่อนเพียงเล็กน้อยที่ 1% เท่านั้น ทั้งนี้เชื่อว่าในไตรมาส 1/2556 สถานการณ์จะกลับมาดีขึ้น เนื่องจากธุรกิจปลาทูน่าเริ่มกลับมาปกติ ส่วนธุรกิจกุ้งนั้น ราคาวัตถุดิบกุ้งในตลาด มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกตลาด ไม่เฉพาะที่ประเทศไทยอย่างเดียว ตลาดจีน เวียดนาม และอินเดีย ก็ปรับตัวสูงขึ้นเช่นเดียวกัน ซึ่งบริษัทได้มีการปรับราคาให้สอดคล้องกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นแล้ว อย่างไรก็ดีบริษัทยังเชื่อมั่นว่า ธุรกิจกุ้งจะดีขึ้นและกลับมาฟื้นตัวได้ทั้งหมดอีกครั้งในครึ่งปีหลัง

ส่วนแผนการลงทุนในปี 2556 นี้ บริษัทยังคงให้ความสำคัญเรื่องการลงทุน เนื่องจากเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สร้างการเติบโตของบริษัท แต่จะเน้นการลงทุนในด้านขยายกำลังการผลิต การขยายตลาด และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น การปรับปรุงโรงงานผลิตปลาแซลมอนแช่แข็ง การสร้างโรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานแช่แข็งและเบเกอรี่แห่งใหม่ และการสร้างโรงงานกุ้งใหม่ ทดแทนโรงงานเก่าที่เกิดเพลิงไหม้ ขณะเดียวกันก็จะเดินหน้าขยายตลาดในภูมิภาคยุโรปมากขึ้น เช่น อีสเทรินส์ยุโรป รัสเซีย และเยอรมัน รวมถึงการขยายตลาดไปยังตลาด AEC โดยการใช้แบรนด์ ซีเล็ค ฟิชโช และเบลลอตต้า เข้าทำตลาดในภูมิภาคนี้ ปัจจุบันมีการทำตลาดประเทศเวียดนาม พม่า กัมพูชา และลาวแล้ว โดยในปีนี้มีแผนจะเข้าไปในอินโดนีเซีย นอกจากนี้ ในส่วนของการเข้าซื้อกิจการ บริษัทก็ยังมีการพิจารณาอยู่ตลอดเวลา แต่ต้องดูโอกาสและช่วงเวลาที่เหมาะสม และจากแผนการดำเนินธุรกิจนี้ เชื่อมั่นว่า ผลงานในปี 2556 จะกลับมาโดดเด่นอีกครั้ง"

และล่าสุด "ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติให้เสนอการจ่ายเงินปันผลจากผลการดำเนินงาน 6 เดือนหลัง (เดือนกรกฎาคม - ธันวาคม 2555) ในอัตราหุ้นละ 1.00 บาท ต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2556 โดยเงินจำนวนนี้ จะแบ่งเป็นส่วนที่ได้รับการยกเว้นภาษีเนื่องจากได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีจากการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 0.45 บาท และส่วนที่ถูกหักภาษีเนื่องจากไม่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีดังกล่าวจำนวน 0.55 บาท อย่างไรก็ดีเมื่อรวมกับเงินปันผลที่จ่ายไปแล้วในงวดแรก (เดือนมกราคม - มิถุนายน 2555) ในอัตรา 1.10 บาท ทำให้อัตราเงินปันผลต่อหุ้นของบริษัทสำหรับผลการดำเนินงานประจำปี 2555 นี้เท่ากับ 2.10 บาท" นายธีรพงศ์ กล่าว