ไทยยูเนี่ยน ร่วมกับ มาร์ส เพ็ทแคร์ และองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ด้านความร่วมมือทางท้องทะเลและการประมงมุ่งสู่ระบบการตรวจสอบย้อนกลับแบบดิจิทัลเพื่อความยั่งยืน

บรรยายใต้ภาพ: ปลาโลมากำลังล่าฝูงปลาซาร์ดีน บริเวณนอกชายฝั่งแอฟริกาใต้ © Doug Perrine/SeaPics.com.

8 มิถุนายน 2560, กรุงเทพฯ – บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และบริษัท มาร์ส เพ็ทแคร์ ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ จากภาคอุตสาหกรรมและภาครัฐ อาทิเช่น องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ด้านความร่วมมือทางท้องทะเลและการประมง (USAID Oceans) ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ได้เปิดตัวโครงการนำร่องสำหรับการตรวจสอบย้อนกลับแบบดิจิทัล ด้วยการติดตั้งระบบสื่อสาร “Fleet One” ของ Inmarsat บนเรือประมงในประเทศไทย ซึ่งลูกเรือ กัปตัน และเจ้าของเรือเข้ารับการอบรมการใช้แอพพลิเคชั่นการสื่อสาร “Fish Talk” ซึ่งพัฒนาโดย Xsense ซึ่งจะทำให้พวกเขาสามารถสื่อสารกับครอบครัวและเพื่อนได้ทั่วโลกในขณะที่อยู่ในทะเล ทั้งนี้นับว่าเป็นครั้งแรกในอุตสาหกรรมประมงของไทย

โครงการนำร่องจะทดสอบแพลทฟอร์มสำหรับการบันทึกข้อมูลการจับปลาแบบดิจิทัล (Digital Catch Data and Traceability: CDT) โดยใช้แอพพลิเคชั่นอุปกรณ์เคลื่อนที่ และการเชื่อมต่อผ่านดาวเทียม ซึ่งจะสามารถแสดงข้อมูลการติดตามด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ตลอดเส้นทาง รวมทั้งการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน

และที่สำคัญกว่านั้นในเรื่องของสิทธิมนุษยชน โครงการนำร่องนี้ทำให้ลูกเรือบนเรือสามารถใช้ระบบการสื่อสาร “Fish Talk” ในการติดต่อกับครอบครัวและเพื่อนที่อยู่บนฝั่ง

ระบบนี้ทำให้ซัพพลายเออร์มีความสามารถในการ
• ปรับปรุงประสิทธิภาพของบันทึกการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบภายใต้การดูแลของผู้จัดการการประมง รวมทั้งสามารถบริหารความเสี่ยงในห่วงโซ่อุปทาน
• การแสดงข้อมูลการตรวจสอบย้อนกลับด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ตลอดเส้นทาง และการจัดการในห่วงโซ่อุปทาน โดยสามารถเชื่อมโยงไปยังตลาดต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป เพื่อสื่อสารในประเด็นเรื่องการทำประมงแบบ IUU และประเด็นเรื่องแรงงานในการทำประมง

ดร.แดเรี่ยน แมคเบน ผู้อำนวยการกลุ่มการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทยยูเนี่ยน กล่าวว่า “อุตสาหกรรมอาหารทะเลต้องเดินหน้าทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อนำความโปร่งใสอย่างเต็มรูปแบบและระบบตรวจสอบแบบดิจิทัลมาใช้ในระบบห่วงโซ่อุปทานของเรา และโครงการนำร่องนี้เป็นก้าวสำคัญในการเดินไปอย่างถูกทิศทาง”

“สำหรับในระยะยาว การตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบจะช่วยทำให้อุตสาหกรรมประมงทั้งหมดมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการปกป้องสิ่งแวดล้อมและการดูแลแรงงานได้ดีขึ้น ในขณะเดียวกันก็สามารถส่งมอบผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงและมีคุณค่าทางโภชนาการที่สำคัญแก่ผู้บริโภคทั่วโลก” ดร. แดเรี่ยน กล่าวเสริม

นางอิซาเบล แอลโวท ผู้อำนวยการด้านความยั่งยืนทั่วโลกของบริษัท มาร์ส เพ็ทแคร์ กล่าวว่า “เราภูมิใจที่ร่วมมือกับไทยยูเนี่ยนในการเปิดตัวโครงการนำร่องดังกล่าวนี้ การติดตั้งการเชื่อมต่อการสื่อสารให้กับแรงงานที่ทำงานในทะเลเป็นก้าวสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงการจัดหาวัตถุดิบด้วยความรับผิดชอบและมีจริยธรรม ซึ่งเรารู้ว่า โครงการนี้จะช่วยให้เกิดความเชื่อมั่นในระบบของการตรวจสอบย้อนกลับ และเรามั่นใจว่านี่จะกลายเป็นมาตรฐานให้กับอุตสาหกรรมประมงทั้งหมด”

ผู้บริโภคทั่วโลกอยากรู้ว่าอาหารของพวกเขามีที่มาจากแหล่งใด และต้องการความมั่นใจว่าอาหารเหล่านั้นเป็นอาหารที่มีคุณภาพดีที่สุดและผ่านมาตรฐานด้านความยั่งยืน

การตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบ จะสามารถติดตามผลิตภัณฑ์ได้อย่างครอบคลุมทุกขั้นตอนนับตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงมือผู้บริโภค ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ยังประโยชน์ให้กับผู้ผลิตและผู้บริโภคโดยการนำความโปร่งใสมาสู่ทั้งระบบ

ระบบการตรวจสอบย้อนกลับดังกล่าวจึงเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสที่สำคัญยิ่งต่ออุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเล

การดำเนินงานในท้องทะเลเป็นเรื่องยากที่จะติดตามหรือกำกับดูแล โดยบ่อยครั้ง มีเพียงคนที่อยู่บนเรือเท่านั้นที่เข้าใจสภาพที่เผชิญและรู้ว่าควรจับปลาด้วยวิธีใด ซึ่งทำให้ขาดการติดตามและนำไปสู่การละเมิดกฎระเบียบด้านการประมงและแรงงาน ส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU)

อุตสาหกรรมประมงยังตามหลังอุตสาหกรรมอื่นอยู่ในเรื่องการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ ทั้งนี้เนื่องจากว่าการติดตั้งเครื่องมือเทคโนโลยีบนเรือประมง รวมทั้งเชื่อมต่อสัญญาณผ่านระบบดาวเทียมเพื่อต่ออินเตอร์เน็ตทำได้ลำบากกว่าการติดตั้งในฟาร์มหรือโรงงาน

ปัจจุบัน แม้แต่บริษัทอาหารทะเลที่มีความยั่งยืนและมีจริยธรรมมากที่สุดหลายรายยังใช้ระบบการเก็บบันทึกติดตามด้วยกระดาษ ซึ่งอย่างน้อยถูกใช้ในการติดตามในส่วนของระบบห่วงโซ่อุปทานบางส่วน โดยระบบการเก็บบันทึกด้วยกระดาษเป็นระบบที่ขาดประสิทธิภาพและเกิดข้อผิดพลาดได้ง่าย

เป็นเรื่องน่ายินดียิ่งที่อุตสาหกรรมประมงมีวิวัฒนาการอย่างมีนัยสำคัญ โดยสามารถทำสิ่งที่ไม่คาดว่าจะเป็นไปได้ในอดีต ให้เป็นไปได้ในปัจจุบัน

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลยุทธ์ความยั่งยืนของไทยยูเนี่ยน สามารถดูได้ที่http://seachangesustainability.org.