มุ่งสู่ระบบดิจิทัลเพื่อความยั่งยืน

โดย ดร. แดเรียน แมคเบน

A fisherman uses his mobile phone on a fishing vessel in the south of Thailand. Photo credit: Thai Union

บรรยายใต้รูปภาพ: ลูกเรือประมงใช้โทรศัพท์มือถือของตนเองขณะอยู่บนเรือประมงทางตอนใต้ของประเทศไทย (เครดิตภาพ จากไทยยูเนี่ยน)

การตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบเป็นหัวใจหลักของความยั่งยืน



ผู้บริโภคทั่วโลกต่างต้องการทราบว่า อาหารที่พวกเขารับประทานนั้นมีที่มาจากแหล่งใด และต้องการความมั่นใจว่าอาหารนั้นเป็นอาหารที่มีคุณภาพดีที่สุดและได้มาตรฐานด้านความยั่งยืน

การตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบคือ ความสามารถในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ตั้งแต่แหล่งกำเนิดผ่านกระบวนการผลิตมาจนมาถึงผู้บริโภค ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ยังประโยชน์ให้ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคในการนำความโปร่งใสอย่างเป็นรูปธรรมมาสู่ทั้งระบบ เมื่อคุณใช้การตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบระบบดิจิทัล เมื่อนั้นคือเวลาที่คุณสามารถเริ่มผลักดันความโปร่งใสขึ้นไปอีกระดับให้กับอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเล

เป็นเรื่องยากที่จะติดตามหรือดูแลการปฏิบัติหรือการดำเนินการอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นในท้องทะเล บ่อยครั้งที่มีเพียงผู้ที่อยู่บนเรือเท่านั้นที่เข้าใจสถานการณ์ที่กำลังเผชิญและลักษณะการประมงที่ดำเนินการ การขาดการติดตามนี้อาจนำไปสู่การใช้แรงงานอย่างไม่ยุติธรรมและการฝ่าฝืนกฎระเบียบด้านการประมง ซึ่งส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งเกิดการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unreported: IUU)

ภาคธุรกิจ ภาครัฐ และผู้บริโภค ไม่สามารถทนต่อปัญหาที่กระจายอยู่ในห่วงโซ่อุปทานในปัจจุบันได้อีกต่อไป จากการประเมิน คาดว่ามีจำนวนแรงงานที่ตกอยู่ในวงจรทาสยุคใหม่ที่ราว 40.3 ล้านคนทั่วโลก โดย 24.9 ล้านคนในนั้นเป็นแรงงานที่ถูกบังคับ[1] ด้วยเหตุนี้ ข้อมูลที่มาจากความโปร่งใสของห่วงโซ่อุปทานจึงถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสะท้อนประเด็น รวมทั้งช่วยเสนอแนวทางสู่การแก้ไขในประเด็นนี้

ข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบจะมีประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะไม่เพียงแต่จะช่วยป้องกันการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม รวมทั้งการบันทึกข้อมูลการจับสัตว์ทะเล แต่ยังช่วยควบคุมมาตรฐานแรงงานบนเรือประมงได้อีกด้วย เมื่อมีการใส่ระบบการเชื่อมต่อสัญญาณ โดยระบบจะทำการส่งข้อมูลการประมงแบบเรียลไทม์ ซึ่งจะทำให้ชาวประมงและลูกเรือสามารถสื่อสารกลับมายังภาคพื้นดินและเปิดโอกาสให้พวกเขาได้มีโอกาสเล่าเรื่องราวขณะที่อยู่ในท้องทะเล

การปฏิรูปด้วยระบบดิจิทัล​

Teams work to install technology on a Thai fishing vessel to bring digital traceability to Thailand’s fishing industry. Photo credit: Thai Union

บรรยายใต้รูปภาพ: ทีมงานขณะติดตั้งเครื่องมือบนเรือประมงของไทย เพื่อนำระบบการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของวัตถุดิบด้วยระบบดิจิทัลมาสู่อุตสาหกรรมประมงไทย (เครดิตภาพ จากไทยยูเนี่ยน)

ปัจจุบัน อุตสาหกรรมประมงพึ่งการเก็บข้อมูลด้วยกระดาษ ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะค่าใช้จ่ายในการเชื่อมต่อสัญญาณกับเรือที่เคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลาโดยผ่านสัญญาณดาวเทียมที่สามารถรับไหว ทำได้ยากกว่าการเชื่อมต่อในไร่หรือโรงงานที่อยู่กับที่

ปัจจุบัน แม้แต่ผู้ผลิตอาหารทะเลที่มีจรรยาบรรณและให้ความสำคัญกับความยั่งยืนหลายแห่ง ก็ยังคงใช้ระบบการเก็บข้อมูลด้วยกระดาษในการติดตาม โดยติดตามได้อย่างน้อยก็เพียงบางส่วนของห่วงโซ่อุปทาน แต่อย่างไรก็ตาม การเก็บข้อมูลด้วยระบบกระดาษขาดประสิทธิภาพและมีโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดในการเก็บข้อมูลได้โดยง่าย

นับเป็นโอกาสดี อุตสาหกรรมประมงมีวิวัฒนาการอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้สิ่งที่ไม่คาดว่าจะเป็นไปได้ในอดีต สามารถเป็นไปได้ในปัจจุบัน

วิดีโอสารคดีที่แนบอยู่ข้างต้นแสดงให้เห็นว่าบริษัทอย่าง ไทยยูเนี่ยน และมาร์ส เพ็ทแคร์ รวมทั้งพันธมิตรอื่นๆ ใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างไร

ในวิดีโอนี้ แสดงให้เห็นถึงการติดตั้งระบบ Inmarsat Fleet One บนเรือประมงในประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนำร่องเพื่อส่งเสริมการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบด้วยระบบดิจิทัล

การเก็บข้อมูลด้วยระบบดิจิทัลนี้ ก่อให้เกิดความเป็นไปได้ในการใช้ข้อมูลที่เลือกให้กับผู้ซื้อ หน่วยงานกำกับดูแล คู่ค้าในห่วงโซ่อุปทาน และที่สำคัญที่สุดคือผู้บริโภค ซึ่งจะเห็นได้จากในวิดีโอถึงวิธีการใช้สมุดบันทึกอิเล็กทรอนิกส์ในการเก็บข้อมูลการทำประมง ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ ตำแหน่งที่จับ วัน เวลา หรือแม้กระทั่งจำนวนปลาที่จับได้

A man smiling onboard a fishing vessel in the south of Thailand. Photo credit: Thai Union

บรรยายใต้รูปภาพ: ภาพชายยืนยิ้มอยู่บนเรือประมงทางตอนใต้ของประเทศไทย (เครดิตภาพ จากไทยยูเนี่ยน)

ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ เรื่องสิทธิมนุษยชน วิดีโอนี้แสดงให้เห็นถึง วิธีการสื่อสารของลูกเรือ กัปตัน และเจ้าของเรือในการติดต่อสื่อสารกับครอบครัว และเพื่อนๆ ทั่วโลกขณะที่ออกทะเลโดยผ่านแอปพลิเคชันสนทนาทางโทรศัพท์มือถือ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในอุตสาหกรรมประมงไทย

อุตสาหกรรมอาหารทะเลจำเป็นต้องเดินหน้าทำงานอย่างต่อเนื่องในการสร้างความโปร่งใสอย่างเป็นรูปธรรม และการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบด้วยระบบดิจิทัลมาสู่ห่วงโซ่อุปทาน โครงการนำร่องนี้ เป็นก้าวสำคัญในทิศทางที่ถูกต้อง ในระยะยาวการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบจะช่วยให้ทั้งอุตสาหกรรมประมงมีความยั่งยืนยิ่งขึ้น ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและคุ้มครองแรงงาน ในขณะเดียวกันก็สามารถส่งมอบผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงที่มีคุณค่าโภชนาการที่สำคัญไปยังผู้บริโภคทั่วโลก   

[1] https://www.alliance87.org/global_estimates_of_modern_slavery-forced_labour_and_forced_marriage.pdf