ไทยยูเนี่ยนเดินหน้าจุดยืนความโปร่งใส เดินหน้าร่วมโครงการระดับโลก Ocean Disclosure

กรุงเทพมหานคร – 29 เมษายน 2564 – บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมโครงการระดับโลก Ocean Disclosure ที่ส่งเสริมด้านความโปร่งในใสอุตสาหกรรมอาหารทะเลโดยบริษัทเอกชนที่ประกอบธุรกิจอาหารทะเลสามารถแสดงข้อมูลการจัดหาอาหารทะเลสู่สาธารณชนได้ ซึ่งเป็นประเด็นที่อยู่ในแนวทางเดียวกันกับกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนของบริษ้ทที่ดำเนินงานทั่วโลก หรือ SeaChange® ที่ให้ความสำคัญกับความโปร่งใสและความสามารถในการตรวจสอบย้อนกลับได้เพื่อปรับปรุงการผลิตและจัดหาวัตถุดิบตลอดห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเลให้ดียิ่งขึ้น

สำหรับการเข้าร่วมโครงการ Ocean Disclosure ในครั้งนี้ ไทยยูเนี่ยนได้ตีพิมพ์ข้อมูลห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกของบริษัท ทั้งจากทวีปอเมริกา ยุโรป และเอเชีย ซึ่งจะมีรายละเอียดของการจัดหาวัตถุดิบทั้งจากการประมงในมหาสมุทรและการเพาะเลี้ยงในฟาร์ม รวมไปถึงข้อมูลในเรื่องของบริเวณที่มีการประมง บริเวณในการผลิต อุปกรณ์ประมงที่ใช้ การรับรองและการให้คะแนนด้านความยั่งยืน

นอกจากนี้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียยังสามารถเข้าถึงข้อมูลของโครงการพัฒนาการประมงหรือ Fishery Improvement Projects (FIPs) ได้ที่ FisheryProgress.org และข้อมูลเกี่ยวกับมาตรฐานห่วงโซ่ของการคุ้มครองของสำนักงานคณะกรรมการรับรองมาตรฐานสินค้าประมง หรือ Marine Stewardship Council (MSC) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ไทยยูเนี่ยนใช้ในการจัดหาอาหารทะเล และมีข้อมูลเกี่ยวกับโครงการต่างๆ ของบริษัท การทำงานด้านความยั่งยืนและข้อมูลดั้งเดิมที่เกี่ยวกับแหล่งที่มาของสินค้าไทยยูเนี่ยน

“ที่ไทยยูเนี่ยน เราเชื่อว่าการจัดหาวัตถุดิบที่มีความโปร่งใสและความสามารถในการตรวจสอบย้อนกลับได้นั้นคือหัวใจสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารทะเลทั่วโลก” ดร.แดเรี่ยน แมคเบน ผู้อำนวยการกลุ่มด้านการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าว “การร่วมโครงการ Ocean Disclosure ในครั้งนี้ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถเข้าใจแหล่งที่มาของอาหารทะเลได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การป้องกันการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม รวมไปถึงเรื่องของการล่วงละเมิดแรงงานและสิทธิมนุษยชน ความเสี่ยงทางสังคม และผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ทางทะเล

โครงการ Ocean Disclosure เกิดขึ้นในปี 2558 โดยองค์กรที่มีชื่อว่า Sustainable Fisheries Partnership โดยเปิดโอกาสให้บริษัทอาหารทะเลทั้งผู้ค้าปลีก ผู้จัดหาสินค้า และผู้ผลิตอาหารเลี้ยงสัตว์ ในการอาสาเปิดเผยข้อมูลการจัดหาอาหารทะเล ทั้งการประมงและการเพาะเลี้ยงในฟาร์ม ปัจจุบันมีบริษัทมากกว่า 30 รายทั้งในทวีปยุโรป อเมริกาเหนือ และออสเตรเลียเข้าร่วมโครงการ และโครงการยังคาดว่าจะมีบริษัทจากอเมริกาและเอเชียเข้าร่วมเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต

ความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทานเป็นหนึ่งในความมุ่งมั่นของไทยยูเนี่ยนที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนขึ้น บริษัทจึงได้มีการดำเนินงานต่างๆ อาทิ

  • ตีพิมพ์บทความรายงานเรื่องความโปร่งใสในการจัดหาวัตถุดิบในทวีปยุโรป: การจับปลาและกุ้ง ในปี 2561 โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF
  • รวบรวมสัตว์สายพันธ์ต่างๆ เพิ่มเติมลงในแผนที่แหล่งอาหารทะเลที่ตีพิมในรายงานความยั่งยืนปี 2562 เรียงลำดับตามจำนวน
  • ตีพิมพ์รายงานความก้าวหน้าที่ได้รับการประเมินอย่างเป็นกลางตามข้อตกลงกับกรีนพีซในปี 2560
  • ตีพิมพ์รายงานความก้าวหน้าที่ได้รับการประเมินอย่างเป็นกลางเกี่ยวกับการรับพนักงานอย่างมีจริยธรรมของไทยยูเนี่ยน
  • ในช่วงระหว่างการทำงานร่วมกับองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ไทยยูเนี่ยนได้เปิดเผยข้อมูลห่วงโซ่อุปทานในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปทั้งหมด รวมถึงร่วมเข้ารับการประเมินทางสิ่งแวดล้อมประจำปี และตีพิมพ์รายงานความก้าวหน้าตามข้อตกลงความร่วมมือ
  • ไทยยูเนี่ยนคือหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้ง SeaBOS (Seafood Business for Ocean Stewardship) โดยมีวัตถุประสงค์ในการเพิ่มความโปร่งใสและความสามารถในการตรวจสอบย้อนกลับได้ในอุตสาหกรรมอาหารทะเล
  • ร่วมลงนามใน ปฏิญญาการตรวจสอบย้อนกลับของการจัดหาทูน่า จัดโดยสภาเศรษฐกิจโลก ที่ตั้งเป้าหยุดการประมงทูน่าที่ผิดกฎหมาย ขาดรายงานและการควบคุม ให้หมดไปจากห่วงโซ่อุปทาน

“เรายินดีที่ไทยยูเนี่ยนแสดงจุดยืนในการเป็นผู้นำเรื่องความโปร่งใส และเข้าร่วมในโครงการ Ocean Disclosure ทำให้ ช่วยให้เราขยายความร่วมมือไปยังบริษัทอาหารทะเลต่างๆ ทั่วโลก เอกสารต่างๆ ที่ไทยยูเนี่ยนได้เผยแพร่ข้อมูลเป็นเครื่องยืนยันถึงความตั้งใจในเรื่องความโปร่งใสและความรับผิดชอบต่อการจัดหาวัตถุดิบอาหารทะเล” นายเบลค ลี ฮาร์วูด ผู้อำนวยการองค์กรภาคีการประมงอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Fisheries Partnership (SFP) กล่าว

เกี่ยวกับ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นผู้นำธุรกิจอาหารทะเลของโลก ซึ่ง ส่งมอบผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่มีนวัตกรรม รสชาติดี มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และมีคุณภาพสูงให้กับผู้บริโภคทั่วโลกมาเป็นเวลากว่า 40 ปี

วันนี้ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำธุรกิจอาหารทะเลระดับโลก โดยเป็นหนึ่งในผู้ผลิตปลาทูน่าในบรรจุภัณฑ์ชนิดต่างๆ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมียอดขายต่อปีมากกว่า 132,402 ล้านบาท (4.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ) และมีพนักงานทั่วโลกรวมกันมากกว่า 44,000 คน ซึ่งล้วนทุ่มเทคิดค้นผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่มีนวัตกรรมและมีความยั่งยืน

ไทยยูเนี่ยนเป็นเจ้าของแบรนด์ทั่วโลก ประกอบด้วย แบรนด์ที่เป็นผู้นำตลาดโลกอย่าง Chicken of the Sea, John West, Petit Navire, Parmentier, Mareblu, King Oscar และ Rügen Fisch รวมทั้งแบรนด์ชั้นนำในประเทศไทย ได้แก่ ซีเล็ค ฟิชโช คิวเฟรช โมโนริ เบลลอตต้า และมาร์โว่ รวมถึงผลิตภัณฑ์ส่วนประกอบอาหารและอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ ได้แก่ UniQ™BONE, UniQ™DHA และ ZEAvita

จากพันธกิจในการเป็นบริษัทแห่งนวัตกรรมและดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบทั่วโลก ไทยยูเนี่ยนภูมิใจที่ได้เป็นหนึ่งในภาคีข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact) และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิเพื่อความยั่งยืนของอาหารทะเลสากล (International Seafood Sustainability Foundation: ISSF) ในปี 2558 ไทยยูเนี่ยนเปิดตัวกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน SeaChange® และดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาโดยตลอด จนส่งผลให้ไทยยูเนียนได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI) สำหรับตลาดเกิดใหม่ 7 ปีติดต่อกัน โดยในปี 2563 ได้รับเลือกเป็นบริษัทอันดับ 2 ของกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร นอกจากนี้ไทยยูเนี่ยนยังได้รับการคัดเลือกให้ติดอันดับดัชนี FTSE4Good Emerging Index เป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน

เกี่ยวกับโครงการ Ocean Disclosure

ก่อตั้งขึ้นในปี 2558 โดยภาคีการประมงอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Fisheries Partnership โครงการนี้เป็นเวทีให้นานาชาติสามารถร่วมเปิดเผยข้อมูลการจัดหาอาหารทะเลโดยสมัครใจ เพื่อยกระดับความโปร่งใสในอุตสาหกรรมอาหารทะเลโดยให้บริษัทเอกชนเปิดเผยข้อมูลของแหล่งวัตถุดิบแก่สาธารณชน โดยโครงการได้จัดทำแบบฟอร์มที่บริษัทต่างๆ สามารถรายงานข้อมูลการจับปลาและการเลี้ยงปลาในฟาร์ม รวมถึงข้อมูลแหล่งที่มา ปริมาณวัตถุดิบ การจัดการและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (รวมไปถึงผลกระทบต่อสายพันธ์สัตว์น้ำคุ้มครองที่เสี่ยงต่อการสูญพันธ์ สัตว์น้ำที่ติดอวนขึ้นมา สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ตามพื้นของท้องทะเล สัตว์ทะเลที่นำมาผลิตอาหารปลา ผลกระทบจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่มีต่อคุณภาพน้ำและสายพ้นธ์สัตว์น้ำ) ข้อมูลเหล่านี้ได้ถูกนำมาจัดทำข้อมูลประจำปีและเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของโครงการ www.oceandisclosureproject.org.