ไทยยูเนี่ยนนำเทคโนโลยีดาวเทียม ต่อยอดการตรวจสอบย้อนกลับในอุตสาหกรรมอาหารทะเลเพื่อความยั่งยืน

บรรยายภาพ ภาพถ่ายจากดาวเทียมแสดงให้เห็นบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ ด้วยระบบตรวจจับของ Sea Warden

 

บรรยายภาพ ภาพถ่ายจากดาวเทียมทำให้สามารถมองเห็นพื้นที่การเกษตรในอดีตและตรวจสอบการทำงานปัจจุบันได้

กรุงเทพมหานคร - 18 กุมภาพันธ์ 2565 – บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) นำร่องใช้ระบบสำรวจพื้นผิวโลกเพื่อติดตามการเลี้ยงกุ้งผ่านภาพถ่ายดาวเทียม โดยร่วมมือกับบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลจากดาวเทียม Sea Warden  และ บริษัทตรวจสอบย้อนกลับห่วงโซ่อุปทาน Wholechain

ในฐานะบริษัทผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของโลก ไทยยูเนี่ยนมีนโยบายสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีในการผลิตอาหารทะเลอย่างยั่งยืน  โดยโครงการนำร่องนี้มีวัตถุประสงค์หลักในการเก็บข้อมูลพื้นฐานสำคัญหรือ Key Data Elements (KDEs) ของฟาร์มกุ้ง โดยเป็นข้อมูลที่ประมวลขึ้นด้วยระบบอัตโนมัติ สามารถตรวจสอบได้ และมีต้นทุนที่เหมาะสม ทั้งนี้ การเก็บข้อมูลพื้นฐานสำคัญของฟาร์มกุ้งด้วยเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียม ได้ถูกประสานเข้ากับเทคโนโลยีการตรวจสอบย้อนกลับ ทำให้มีศักยภาพที่จะช่วยสนับสนุนการเลี้ยงกุ้งอย่างยั่งยืน โดยใช้ประโยชน์จากข้อมูลเกี่ยวกับผลผลิตกุ้ง สุขภาพกุ้ง การปนเปื้อน และอื่นๆ

ดาวเทียมได้ถ่ายภาพพื้นผิวโลกมามากกว่า 50 ปี ซึ่งมีประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การเกษตร การป่าไม้ และการประมง  อย่างไรก็ดีสำหรับอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่  ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ การรวบรวมข้อมูลพื้นฐานสำคัญถูกนำมาใช้ในการทำงานด้านความยั่งยืนและการตรวจสอบย้อนกลับในอุตสาหกรรมอาหารทะเลเพื่อแก้ปัญหาข้อมูลที่ไม่เพียงพอสำหรับผู้นำเข้า ผู้ค้าปลีก และผู้บริโภค เพื่อช่วยในการตัดสินใจซื้อสินค้าได้อย่างมีความรับผิดชอบได้ดียิ่งขึ้น  บริษัท Sea Warden และ Wholechain ร่วมทำงานกันอย่างใกล้ชิดเพื่อสร้างชุดข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญเพื่อใช้อ้างอิง ด้วยระบบดาวเทียม ซึ่งทางองค์กรอย่าง Global Dialogue on Seafood Traceability (GDST), Best Aquaculture Practices (BAP) และ Aquaculture Stewardship Council (ASC) ให้การยอมรับ  และยังข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญอื่นๆ ที่ทำให้ตั้งเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล (ESG) ได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นในแวดวงอุตสาหกรรมอาหารทะเล

ไทยยูเนี่ยนเชื่อว่าข้อมูลการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจากดาวเทียมเป็นวิธีการหนึ่งที่มีศักยภาพในการช่วยลดความเสี่ยงและสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน ซึ่งถือเป็นประเด็นท้าทายของบริษัททุกบริษัทที่ต้องจัดหาวัตถุดิบกุ้งจากฟาร์มกุ้งในหลายประเทศ  นายอดัม เบรนนัน ผู้อำนวยการกลุ่มด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า

“การเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ของฟาร์มกุ้งในพื้นที่ต่างๆ ยังเป็นเรื่องท้าทายและมีค่าใช้จ่ายที่สูง เรามองเห็นศักยภาพในการใช้ภาพถ่ายทางดาวเทียมในการเพิ่มความโปร่งใส ประเมินความเสี่ยงและตรวจสอบการดำเนินงานของฟาร์มกุ้ง เราจะเดินหน้าหาวิธีการในการนำเทคโนโลยีดาวเทียมที่ยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มาใช้สนับสนุนการทำงานด้านความยั่งยืน”

ในช่วงการทำงานนำร่องนี้ Sea Warden ใช้เทคนิค machine learning และ artificial intelligence (AI) ในการสร้างข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญในระยะการเพาะเลี้ยง 24 เดือนย้อนหลังในฟาร์มกุ้งในเครือข่ายของไทยยูเนี่ยน (ตามภาพประกอบ) ในการสาธิตการทำงานร่วมกัน บริษัท Wholechain ได้ถ่ายโอนข้อมูลเหล่านี้ผ่านห่วงโซ่อุปทานของไทยยูเนี่ยนไปพร้อมกับรายงานเชิงลึกจาก Sea Warden   นายแซ็ค ดินห์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Sea Warden กล่าวว่า

“ข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญ (KDEs) จากเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมนับเป็นวิธีที่ง่ายสำหรับผู้ค้าปลีก ผู้รับรองมาตรฐานความยั่งยืน และผู้ผลิต ในการเพิ่มความโปร่งใสของฟาร์มกุ้งให้ดียิ่งขึ้น ข้อมูลจากดาวเทียมทำให้การลงทุนในระบบการตรวจสอบย้อนกลับได้เกิดประโยชน์สูงสุด อาทิ เทคโนโลยีบล็อกเชน (blockchain) ของ Wholechain สามารถช่วยลดความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเพิ่มความมั่นใจตลอดห่วงโซ่อุปทาน

ไทยยูเนี่ยนเชื่อว่าข้อมูลเชิงลึกในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที้ได้จากเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมจะช่วยลดความเสี่ยงและทำให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนได้ดียิ่งขึ้น ไทยยูเนี่ยนมองเทคโนโลยีดังกล่าวเป็นหนทางหนึ่งในการพัฒนาการเข้าถึงข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพให้กับองค์กรต่างๆ ที่มีหน้าที่รับรอง ผู้ค้าปลีกและแม้กระทั่งผู้บริโภคเอง ซุปเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งได้วางแผนในการใช้ข้อมูลเหล่านี้ในขั้นตอนการจัดซื้อและสื่อสารให้ผู้บริโภคได้รับทราบ

เกี่ยวกับ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นผู้นำด้านอาหารทะเลระดับโลกที่นำผลิตภัณฑ์อาหารทะเลคุณภาพสูง ดีต่อสุขภาพ อร่อย และสร้างสรรค์ มาสู่ลูกค้าทั่วโลกมาเป็นเวลากว่า 40 ปี

ปัจจุบัน ไทยยูเนี่ยนถือได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาหารทะเลชั้นนำของโลกและเป็นหนึ่งในผู้ผลิตปลาทูน่าในบรรจุภัณฑ์ชนิดต่างๆ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมียอดขายต่อปีเกินกว่า 132.4 พันล้านบาท (4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และแรงงานทั่วโลกกว่า 44,000 คน ที่ทุ่มเทให้กับการบุกเบิกผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่สร้างสรรค์และยั่งยืน

ไทยยูเนี่ยนเป็นเจ้าของแบรนด์ทั่วโลก ประกอบด้วย แบรนด์ที่เป็นผู้นำตลาดโลกอย่าง Chicken of the Sea, John West, Petit Navire, Parmentier, Mareblu, King Oscar และ Rügen Fisch รวมทั้งแบรนด์ชั้นนำในประเทศไทย ได้แก่ ซีเล็ค ฟิชโช คิวเฟรช โมโนริ เบลลอตต้า และมาร์โว่ นอกจากนี้ยังมีส่วนประกอบอาหารภายใต้แบรนด์ UniQ™BONE และ UniQ™DHA และผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพแบรนด์ ZEAVITA

จากพันธกิจในการเป็นบริษัทแห่งนวัตกรรมและดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบทั่วโลก ไทยยูเนี่ยนภูมิใจที่ได้เป็นหนึ่งในภาคีข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact) และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิเพื่อความยั่งยืนของอาหารทะเลสากล (International Seafood Sustainability Foundation: ISSF) ในปี 2558 ไทยยูเนี่ยนเปิดตัวกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน SeaChange® และดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาโดยตลอด จนส่งผลให้ไทยยูเนียนได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI) สำหรับตลาดเกิดใหม่ 8 ปีติดต่อกัน โดยในปี 2564 ได้รับเลือกเป็นบริษัทอันดับ 2 ของกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร นอกจากนี้ไทยยูเนี่ยนยังได้รับการคัดเลือกให้ติดอันดับดัชนี FTSE4Good Emerging Index เป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน

เกี่ยวกับ Sea Warden

Sea Warden มุ่งตอบโจทย์ในด้านข้อมูลที่สำคัญในอุตสาหกรรมสัตว์น้ำโดยการใช้เทคโนโลยีดาวเทียม เอไอ และระบบคลาวด์คอมพิวเตอร์ ในการรวบรวมข้อมูลกิจกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั่วโลกเข้าด้วยกัน รวมไปถึงการตรวจสอบข้อมูล  บริษัทร่วมทำงานกับภาคส่วนต่างๆ ในอุตสาหกรรม ภาครัฐ และกลุ่มอนุรักษ์ต่างๆ ในการยกระดับการทำงานด้านความยั่งยืนในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่ออุตสาหกรรมอาหารทะเล  Sea Warden ยังได้รับการสนับสนุนเงินทุนจาก Hatch และดำเนินงานโดยสถาบัน AltaSea ตั้งอยู่ ณ​ ท่าเรือลอสแองเจลีส  ท่านสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่  seawarden.io

เกี่ยวกับ  Wholechain

Wholechain คือโซลูชั่นในการตรวจสอบแบบย้อนกลับได้ซึ่งใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน เพื่อสร้างความมั่นใจ ความร่วมมือและความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทานที่กระจัดกระจาย  Wholechain ยังทำงานในหลายอุตสาหกกรรมเพื่อให้ธุรกิจต่างๆ  สามารถจัดการความเสี่ยงและเพิ่มประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและผลิตภัณฑ์ได้อย่างมีความรับผิดชอบมากยิ่งขึ้น Wholechain ยังเป็นหุ้นส่วนกับเทคโนโลยีบล็อกเชนของมาสเตอร์การ์ด และเคยได้รับรางวัล  Fish 2.0 Competition at Stanford ด้านนวัตกรรมห่วงโซ่อุปทาน และเป็นผู้ชนะการแข่งขันด้านความปลอดภัยอาหาร “การตรวจสอบย้อนกลับได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายหรือมีค่าใช้จ่ายต่ำ” จากองค์กรอาหารและยา ประเทศสหรัฐอเมริกา ท่านสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Low- or No-Cost Food Traceability Challenge Wholechain.com.