เปิดรับสมัครแล้ว! SPACE-F ซีซัน 3 โครงการปั้นนวัตกรรมอาหารสู่ระดับสากลพร้อมเดินหน้าผลักดันสตาร์ทอัพเทคโนโลยีอาหารอย่างต่อเนื่อง

กรุงเทพฯ – 5 พฤศจิกายน 2564 – สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และมหาวิทยาลัยมหิดล เปิดรับสมัครสตาร์ทอัพด้านฟู้ดเทคเข้าร่วมโครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตทางธุรกิจเทคโนโลยีอาหารระดับโลกในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ SPACE-F (สเปซ-เอฟ) ซึ่งจัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 แล้ว โดยโครงการ SPACE-F มี 2 โปรแกรม คือ โครงการบ่มเพาะ (Incubator) สำหรับสตาร์ทอัพที่อยู่ในระยะเริ่มต้น และโครงการเร่งการเติบโต (Accelerator) สำหรับสตาร์ทอัพที่อยู่ในระยะพร้อมเติบโต โดยโครงการ SPACE-F มุ่งเน้นการสร้างเครือข่าย และการให้คำปรึกษา เพื่อปลุกปั้นสตาร์ทอัพที่สามารถนำเทคโนโลยีเชิงลึก (DeepTech) มาสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารได้

โครงการ SPACE-F รุ่นที่ 3 เปิดรับสมัครสตาร์ทอัพด้านอาหารเข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่วันนี้ - 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 โดยจะคัดเลือกสตาร์ทอัพ 20 ราย เข้าร่วมโปรแกรม Accelerator และ Incubator โดยโครงการ Accelerator มีระยะเวลาเข้าร่วมโครงการ 5 เดือน และเน้นการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจและการขยายขนาดของสตาร์ทอัพ ส่วนโครงการ Incubator มีระยะเวลา 9 เดือน โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาและเปิดตัวผลิตภัณฑ์เป็นหลัก ทั้งนี้ โครงการ SPACE-F รุ่นที่ 3 ดำเนินการโดย Nest ASEAN

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า "NIA มีภารกิจหลักในการยกระดับระบบนวัตกรรมแห่งชาติ (NIS) ของประเทศไทย ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับองค์กรนวัตกรรมทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งโครงการ "SPACE-F" เป็นหนึ่งในโครงการที่ได้ร่วมมือกับองค์กรชั้นนำทั้งภาคเอกชน และภาคการศึกษา สำหรับปีนี้ดำเนินการมาเป็นปีที่ 3 โดย NIA มุ่งเน้นการสนับสนุนและผลักดันสตาร์ทอัพให้สร้างสรรค์นวัตกรรมจากเทคโนโลยีเชิงลึกเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมอาหารอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงเพื่อขับเคลื่อนกรุงเทพฯ ให้เป็นที่รู้จักในนาม 'Bangkok FoodTech Silicon Valley' หรือ ศูนย์กลางด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านอาหารของโลก"

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "ในฐานะผู้นำธุรกิจอาหารทะเลของโลกที่มุ่งมั่นที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับอุตสาหกรรม ไทยยูเนี่ยนเชื่อว่าการร่วมมือกับสตาร์ทอัพด้านนวัตกรรมอาหารเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนอนาคตของอุตสาหกรรมอาหาร และโครงการ SPACE-F เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างระบบนิเวศน์สตาร์ทอัพ เพื่อให้สตาร์ทอัพสามารถทำงานร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ โดยมีวัตถุประสงค์ในการนำผลิตภัณฑ์ของเหล่าสตาร์ทอัพออกสู่ตลาดในประเทศไทยและทั่วโลก"

สตาร์ทอัพบางส่วนที่โดดเด่นจากรุ่นที่ 2 เมื่อปีพ.ศ. 2563 ได้แก่ Avant Meats ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำงานด้านการเพาะเลี้ยงและปรับโครงสร้างเนื้อเยื่อเซลล์ปลาอย่างครอบคลุม ในรูปแบบเนื้อสัตว์ทางเลือก หรือสตาร์ทอัพอย่าง IXON Food Technology ที่แก้ปัญหาอายุการเก็บรักษาด้วยบรรจุภัณฑ์อาหารที่สามารถฆ่าเชื้อสิ่งของที่เน่าเสียง่ายได้ในอุณหภูมิต่ำ หรือ Profile Print บริษัทแรกในโลกที่จดสิทธิบัตรเทคโนโลยี AI สำหรับอาหาร ซึ่งจะเข้ามาแก้ไขปัญหาในห่วงโซ่อุปทานอาหารทั้งหมด และสุดท้าย Yindii นวัตกรรมใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยแอพพลิเคชั่นเพื่อจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมจากขยะอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ร้านอาหาร

ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า "อาหารเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในการดำรงชีวิตและสุขภาพ และมหาวิทยาลัยมหิดลก็มีพื้นฐานที่แข็งแกร่งในการวิจัยด้านสุขภาพในด้านเทคโนโลยีการอาหาร ด้วยพันธกิจของเราที่จะนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ เรารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เข้าร่วมโปรแกรม SPACE-F และตั้งตารอที่จะได้มีส่วนร่วมกับผู้ประกอบการด้านอาหารจากทั่วโลก"

เกี่ยวกับ NIA
ภารกิจของ NIA คือการสนับสนุนและพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศไทย ทั้งในด้านการปรับปรุงและการริเริ่ม เพื่อส่งเสริมการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน NIA ทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนนวัตกรรมของประเทศโดยการร่วมสร้าง เครือข่าย อุปถัมภ์ และร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ จากหลากหลายสาขา เช่น วิชาการ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม การเงิน และการลงทุน จุดเน้นหลักคือการใช้การจัดการความรู้เพื่อให้เกิดนวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อส่งเสริมการทํางานในรูปแบบเครือข่ายวิสาหกิจนวัตกรรม ซึ่งใช้นวัตกรรมเป็นเครื่องมือหลักในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตและขับเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจที่มีการแข่งขันสูงขึ้น

เกี่ยวกับไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป
บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นผู้นำด้านอาหารทะเลระดับโลกที่นำผลิตภัณฑ์อาหารทะเลคุณภาพสูง ดีต่อสุขภาพ อร่อย และสร้างสรรค์ มาสู่ลูกค้าทั่วโลกมาเป็นเวลากว่า 40 ปี

ปัจจุบัน ไทยยูเนี่ยนถือได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาหารทะเลชั้นนำของโลกและเป็นหนึ่งในผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าที่เก็บไว้ได้นานที่สุด โดยมียอดขายต่อปีเกินกว่า 132.4 พันล้านบาท (4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และแรงงานทั่วโลกกว่า 44,000 คน ที่ทุ่มเทให้กับการบุกเบิกผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่สร้างสรรค์และยั่งยืน

ไทยยูเนี่ยนเป็นเจ้าของแบรนด์ทั่วโลก ประกอบด้วย แบรนด์ที่เป็นผู้นำตลาดโลกอย่าง Chicken of the Sea, John West, Petit Navire, Parmentier, Mareblu, King Oscar และ Rügen Fisch รวมทั้งแบรนด์ชั้นนำในประเทศไทย ได้แก่ ซีเล็ค ฟิชโช คิวเฟรช โมโนริ เบลลอตต้า และมาร์โว่ นอกจากนี้ยังมีส่วนประกอบอาหารภายใต้แบรนด์ UniQ™BONE และ UniQ™DHA และผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพแบรนด์ ZEAvita.

จากพันธกิจในการเป็นบริษัทแห่งนวัตกรรมและดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบทั่วโลก ไทยยูเนี่ยนภูมิใจที่ได้เป็นหนึ่งในภาคีข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact) และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิเพื่อความยั่งยืนของอาหารทะเลสากล (International Seafood Sustainability Foundation: ISSF) ในปี 2558 ไทยยูเนี่ยนเปิดตัวกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน SeaChange® และดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาโดยตลอด จนส่งผลให้ไทยยูเนียนได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI) สำหรับตลาดเกิดใหม่ 7 ปีติดต่อกัน โดยในปี 2563 ได้รับเลือกเป็นบริษัทอันดับ 2 ของกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร นอกจากนี้ไทยยูเนี่ยนยังได้รับการคัดเลือกให้ติดอันดับดัชนี FTSE4Good Emerging Index เป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน

เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยมหิดล

เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยมหิดลมีต้นกำเนิดจากการได้รับพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งโรงศิริราชพยาบาลในปี พ.ศ. 2431 จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) และนับเป็นโรงเรียนแพทย์ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งต่อมามีการเปิดการสอนทั้งระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษาในหลากหลายสาขาทางด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์ รวมไปถึงในด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์อีกด้วย

เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2550 สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้อนุมัติให้มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นสถาบันการศึกษาในกำกับของรัฐ การเปลี่ยนแปลงนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ความยืดหยุ่น และความสามารถในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ของมหาวิทยาลัย เพื่อมุ่งสู่มาตรฐานทัดเทียมมหาวิทยาลัยระดับโลก เป้าหมายสูงสุดคือการส่งเสริมการมีสุขภาวะที่ดีและความเป็นอยู่ที่ดีเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยอาศัยการวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหิดลอยู่ในอันดับที่ 1 ของประเทศไทยจากการจัดอันดับโดยสถาบันที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติมากมาย

เกี่ยวกับ เนสท์ อาเซียน
Nest เป็นหน่วยงานด้านนวัตกรรมระดับโลกที่มีสำนักงานอยู่ในกรุงเทพมหานคร ไนโรบี และลอนดอน ด้วยวิสัยทัศน์การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการดำเนินธุรกิจที่แปลกใหม่ Nest ASEAN ได้สนับสนุนกว่า 50 โครงการที่ร่วมมือกันรวบรวมโลกธุรกิจและระบบนิเวศสตาร์ทอัพใน FinTech AgriTech และ FoodTech

Xpdite Capital Partners เข้าซื้อกิจการ Nest ASEAN ในเดือนกันยายน 2020 ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเร่งการเติบโตในเอเชียของ Xpdite กรุณาเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเรา http://www.xpditecapital.com