ไทยยูเนี่ยน เข้ารอบสุดท้าย ชิงรางวัล 'Stop Slavery Award' ประจำปี 2559

24 ตุลาคม 2559, กรุงเทพฯ - บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง Stop Slavery Award ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิ ธอมป์สัน รอยเตอร์ส สะท้อนถึงการที่บริษัทให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับการจัดการสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัย การจ้างงานที่ถูกต้องตามกฎหมายและมีเสรีภาพในการเลือกงานให้แก่พนักงาน รวมทั้งไม่ทำธุรกิจร่วมกับผู้ประกอบการที่มีการกดขี่แรงงาน นอกจากสวัสดิการและโครงการต่างๆ แล้ว ไทยยูเนี่ยนยังทำงานร่วมกับหลากหลายองค์กรเพื่อให้แน่ใจว่าแรงงานอื่นในอุตสาหกรรมล้วนได้รับการดูแลเช่นกัน

"เรารู้สึกเป็นเกียรติที่ความพยายามของเราเป็นที่ประจักษ์ อย่างไรก็ตาม งานของเรายังไม่หยุดเพียงเท่านี้ การที่จะขจัดการกดขี่แรงงานให้หมดสิ้นไปได้อย่างแท้จริงนั้น ทั้งภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องทำงานร่วมกันด้านความยั่งยืนเพื่อหาคำตอบที่สามารถพิสูจน์ได้ ซึ่งหมายความว่า ภาคธุรกิจ ภาครัฐ ภาคประชาชน และผู้บริโภคต้องมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง" ดร.แดเรี่ยน แมคเบน ผู้อำนวยการกลุ่มการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป กล่าว

ไทยยูเนี่ยน มีพันธกิจที่สำคัญหลายโครงการที่ริเริ่มเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยและการจ้างแรงงานที่ถูกกฎหมาย:

SeaChange®

ในช่วงต้นปีนี้ ไทยยูเนี่ยน ได้เปิดตัว SeaChange® กลยุทธ์เพื่อความยั่งยืนของบริษัท อันประกอบไปด้วยแผนงานด้านความปลอดภัยและแรงงานที่ถูกกฎหมาย ซึ่งจะทำให้แรงงานในห่วงโซ่อุปทานมีเสรีภาพในการเลือกงาน และมีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยในการทำงาน

ระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability)

ไทยยูเนี่ยน ทุ่มเทในการทำระบบตรวจสอบย้อนกลับ ซึ่งจะช่วยให้บริษัทตรวจสอบได้ว่าวัตถุดิบอาหารทะเลของบริษัทได้รับการผลิตอย่างถูกกฎหมายและปลอดภัย และสภาพแวดล้อมการทำงานสำหรับแรงงานมีความปลอดภัยตามมาตรฐานตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน เรื่องนี้มีความสำคัญต่อการสร้างความไว้วางใจให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดของเรา

จรรยาบรรณธุรกิจและแนวปฏิบัติด้านแรงงาน (Business Ethics and Labor Code of Conduct)

ในปี 2588 ไทยยูเนี่ยนได้มีการปรับปรุงจรรยาบรรณธุรกิจและแนวปฏิบัติด้านแรงงานจากฉบับเดิม และกำหนดให้มีการนำไปใช้ตลอดห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกของบริษัท จรรยาบรรณธุรกิจและแนวปฏิบัติด้านแรงงานฉบับปรับปรุงดังกล่าว ครอบคลุมเรื่องการดูแลแรงงาน การกำหนดขั้นตอนปฏิบัติด้านสวัสดิการแรงงาน ​สิทธิประโยชน์​ ค่าแรง​ อายุพนักงาน สิทธิในการมีเสรีภาพในการร่วมกลุ่ม สิทธิในการเจรจาต่อรอง และโครงสร้างการดูแลเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยที่ไม่อยู่ในกรอบข้อตกลง ทั้งนี้ บริษัทได้จัดการอบรมหลายครั้ง ให้กับผู้ประกอบการคู่ค้าของบริษัท เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ประกอบการเหล่านั้นเข้าใจรายละเอียดและหลักการของจรรยาบรรณธุรกิจและแนวปฏิบัติด้านแรงงานดังกล่าว โดยบริษัทจะดำเนินการตรวจสอบการปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่ามีการดำเนินตามอย่างเคร่งครัด นับเป็นการให้โอกาสทางความรู้และการพัฒนาแก่ผู้ประกอบการ เพื่อให้พวกเขาสามารถเติบโตร่วมไปกับบริษัท ผู้ประกอบการที่ไม่สามารถทำได้ตามมาตรฐานที่กำหนดจะไม่สามารถดำเนินธุรกิจกับไทยยูเนี่ยนได้

การยืนยัน และการตรวจสอบ (Verifications and Audits)

นอกจากนี้ ไทยยูเนี่ยน ได้ริเริ่มนโยบายหลายด้านที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนของแรงงาน และบริษัทยังเปิดให้ตรวจสอบโดยหน่วยงานตรวจสอบจากภายนอกที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ซึ่งมุ่งทำงานเพื่อส่งเสริมแนวทางปฏิบัติต่อแรงงานที่ได้มาตรฐานและขจัดการบังคับใช้แรงงานอย่างกดขี่ให้หมดไปจากอุตสาหกรรม

การให้ความรู้แรงงานข้ามชาติ (Educating Migrant Workers)

ไทยยูเนี่ยน ริเริ่มโครงการส่งเสริมความเข้าใจสิทธิแรงงานกับเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ เพื่อให้ความรู้อย่างเป็นทางการกับแรงงานในเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานดังกล่าว รวมทั้งกฎหมายไทยและกฎระเบียบเรื่องสวัสดิการสังคม ในปี 2559 โครงการดังกล่าวซึ่งร่วมกับเครือข่ายฯ ขยายผลได้อย่างมีนัยสำคัญ จึงนำมาซึ่งการประกาศนโยบายการสรรหาแรงงานข้ามชาติอย่างมีจริยธรรม

แนวทางความร่วมมือ

ไทยยูเนี่ยนสนับสนุนแนวทางความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้เสียหลายฝ่ายในการใช้แนวทางปฏิบัติเหล่านี้ และทำงานร่วมกับหลากหลายองค์กรที่ถูกกำหนดมาเพื่อดูแลปัญหาการบังคับใช้แรงงาน และการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างไร้จริยธรรมในอุตสาหกรรมอาหารทะเล องค์กรต่างๆ ที่กล่าวถึง อาทิ สถาบันอิสสระ ซึ่งมีสายด่วนแรงงาน อำนวยความสะดวกถึง 5 ภาษา โดยมีการประชาสัมพันธ์เบอร์ดังกล่าวที่โรงงานของไทยยูเนี่ยน ท่าเรือ และกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นในสถานประกอบการของผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทาน นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับคณะทำงานเพื่อสร้างห่วงโซ่การผลิตกุ้งที่ยั่งยืน (Shrimp Sustainable Supply Chain Task Force) และเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (Labor Rights Promotion Network) รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐในระดับภูมิภาคและในระดับสากล

"ไทยยูเนี่ยนจะไม่เพิกเฉยต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน เราจะเดินหน้าต่อไปในการดำเนินการเพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมอาหารทะเลโลกปราศจากการกดขี่แรงงานและการละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ว่าจะมีอยู่ที่ใดก็ตาม และสร้างให้แรงงานมีความปลอดภัยและถูกกฎหมายให้กับทุกฝ่าย" แมคเบน กล่าวเพิ่มเติม