ไทยยูเนี่ยนมีแนวโน้มทำสถิติใหม่อีกปีหนึ่ง

  • กำไรจากการดำเนินการ เท่ากับ 1,454 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54.6 เปอร์เซ็นต์จากปีก่อน
  • ยอดขายรวมของบริษัทไตรมาสแรกอยู่ที่ 31,257 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.3 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีก่อน
  • อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E ratio) ลดลง 0.69x

กรุงเทพ – (9 พฤษภาคม 2559) – บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ทียู รายงานผลประกอบการไตรมาสแรกประจำปี 2559 มียอดขายรวมอยู่ที่ 31,257 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.3 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีก่อน ที่มียอดขายเท่ากับ 28,606 ล้านบาท เป็นผลมาจากการควบซื้อกิจการในต่างประเทศ ปกติแล้วในช่วงไตรมาสแรก จะมียอดขายไม่สูงเท่าช่วงไตรมาสอื่นๆ ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถของบริษัทในการดำเนินกิจการได้ตามเป้าหมาย ที่วางไว้

อัตรากำไรขั้นต้นของไตรมาสนี้ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจาก 13.8 เปอร์เซ็นต์ของปีก่อน เป็น 15.5 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่กำไรจากการดำเนินการเพิ่มขึ้นเป็น 1,454 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 54.6 เปอร์เซ็นต์จากปีก่อนที่เท่ากับ 940 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการที่ราคาปลาทูน่าและต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง รวมถึงค่าเงินบาทที่อ่อนลง นอกจากนี้ปัจจัยบวกอื่นที่ช่วยให้กำไรจากการดำเนินการในไตรมาสแรกเติบโต เสริม ได้แก่ ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจอาหารทะเลในยุโรปที่แข็งแกร่ง และธุรกิจที่สหรัฐอเมริกาสามารถทำมาร์จิ้นได้ดี

ส่วนกำไรสุทธิไตรมาสแรกของปี 2559 เท่ากับ 1,231 ล้านบาท ลดลง 19 เปอร์เซ็นต์จากปีก่อน เป็นผลมาจากการที่ช่วงเดียวกันของปีที่ก่อนบริษัททำกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน เป็นจำนวนสูงถึง 1,125 ล้านบาท ในขณะที่ไตรมาสนี้บริษัททำกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนได้เพียง 264 ล้านบาท ดังนั้นจึงทำให้กำไรสุทธิก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีเงินได้ และค่าเสื่อม ลดลงเล็กน้อย 6.6 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2558 หรือคิดเป็น 2,755 ล้านบาท

สำหรับยอดขายที่เติบโตขึ้นนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเข้าซื้อกิจการบริษัทรูเก้น ฟิช ในประเทศเยอรมนี ที่ดำเนินการแล้วเสร็จไปเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ อีกทั้งยังเริ่มรับรู้ผลบวกจากการกิจการร่วมทุนในตลาดตะวันออกกลาง ภายใต้การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การลงทุนในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ของบริษัท นอกเหนือจากผลดำเนินการที่ดีขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ยังสามารถสร้างกระแสเงินสดที่ดี โดยกระแสเงินสดของไตรมาสแรกปีนี้สูงถึง 4,483 ล้านบาท เมื่อเทียบกับกระแสเงินสดของปี 2558 ทั้งปี ที่ทำได้ 11,664 ล้านบาท ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์สำหรับปีที่แล้ว

ทางด้านนายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ทียู กล่าวว่า “ถึงแม้ว่าไตรมาสนี้จะเป็นช่วงโลว์ซีซั่น แต่เราสามารถสร้างยอดขายรวมเติบโตได้ถึง 9.3 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีก่อน โดยผลประกอบการไตรมาสแรกของปีนี้สำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพื่อบรรลุผลประกอบการทั้งปีของปี 2559 ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงความเข้มแข็งและความสามารถของไทยยูเนี่ยนในการรับมือ ต่อความท้าทายต่างๆ ที่ประเทศไทย และอุตสาหกรรมอาหารทะเลทั่วโลกเผชิญอยู่ ถึงแม้ว่าความท้าทายต่างๆ ที่ประเทศไทยประสบอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ความผันผวนของราคาปลาทูน่าและกุ้ง สภาพเศรษฐกิจโลกที่แปรปรวน อีกทั้งประเด็นด้านความยั่งยืน แต่เราก็ยังสามารถสร้างผลประกอบการที่เหนือกว่าคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน ได้ ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณต่อความมุ่งมั่นในการ

ทำงานของทีมผู้บริหารและพนักงานทุกท่าน ที่ช่วยกันปรับปรุงประสิทธิภาพและลดต้นทุนเพื่อเพิ่มผลกำไร รวมไปถึงการรวมบริษัท รูเก้น ฟิช เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทไทยยูเนี่ยน อีกด้วย”

ทั้งนี้นายธีรพงศ์ ได้กล่าวเสริมว่า “ด้วยกระแสเงินสดที่ดีของเรา ส่งผลให้สถานะทางการเงินของเรามีการพัฒนาดีขึ้นตามด้วย และทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E ratio) ลดลงเป็น 0.69x จากเดิมที่ 0.76 x เมื่อปลายปี 2558 นอกจากนี้ยังทำให้เรามีความสามารถพร้อมที่ลงทุนในโครงการใหม่ๆ ตามแผนการเติบโตทางธุรกิจของเรา”

ภาพรวมสัดส่วนรายได้ของ 6 กลุ่มธุรกิจ แบ่งตามผลิตภัณฑ์หลักของไทยยูเนี่ยน ในไตรมาสแรกของปี 2559 กลุ่มธุรกิจปลาทูน่าซึ่งมีสัดส่วนรายได้มากที่สุด 38 เปอร์เซ็นต์ ตามด้วยกลุ่มธุรกิจกุ้งและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกุ้ง 26 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มธุรกิจปลาแซลมอน 9 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มธุรกิจปลาซาร์ดีนและปลาแมคเคอเรล 9 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง 7 เปอร์เซ็นต์ และกลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มและผลิตภัณฑ์อื่นๆ 11 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้การแสดงข้อมูลยอดขายผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทจะมีการเปลี่ยนแปลงเริ่ม ตั้งแต่ปีนี้ โดยจะแบ่งเป็น 3 กลุ่มธุรกิจ (แทนที่ 6 กลุ่มธุรกิจเดิม) ได้แก่ กลุ่มธุรกิจอาหารทะเลกระป๋อง (ambient/ shelf-stable seafood) เท่ากับ 49 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็ง แช่เย็น และที่เกี่ยวข้อง (frozen, chilled and related seafood) 39 เปอร์เซ็นต์ และกลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มและผลิตภัณฑ์อื่นๆ (pet care, value-added and other products) 12 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้การจัดหมวดหมู่ใหม่นี้ จะอธิบายถึงการเติบโตและแนวโน้มอัตราการทำกำไรของธุรกิจได้ดีขึ้น โดยเน้นที่การตอบสนองช่องทางการจัดจำหน่ายหลักในตลาดทุกวันนี้

ปัจจุบันสัดส่วนรายได้จากแบรนด์ของบริษัทในไตรมาสแรกนี้คงที่อยู่ที่ ระดับ 43 เปอร์เซ็นต์ โดยส่วนที่เหลือได้มาจากการผลิตขายให้กับลูกค้ารายต่างๆ ขณะที่สัดส่วนรายได้ของกลุ่มธุรกิจทียู ประจำปี 2559 แบ่งตามตลาดมีดังนี้ สหรัฐอเมริกา ยังครองอันดับตลาดที่ใหญ่ที่สุดอยู่โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ 41 เปอร์เซ็นต์ ตามด้วยยุโรป 32 เปอร์เซ็นต์ ตลาดในประเทศ 8 เปอร์เซ็นต์ ญี่ปุ่น 6 เปอร์เซ็นต์ และตลาดอื่นๆ รวม 13 เปอร์เซ็นต์