ไทยยูเนี่ยนขานรับนโยบายรัฐ "Food Innopolis" ลงทุนเพิ่มกว่า 200 ล้าน เปิดตัวโรงงานต้นแบบและขยายพื้นที่ศูนย์นวัตกรรมเพิ่มอีกเท่าตัว พร้อมจับมือ 3 สถาบัน ให้ทุนการศึกษาพัฒนาบุคลากรระดับปริญญาโทและเอก

บรรยายใต้ภาพ : (เรียงจากซ้ายไปขวา) คุณธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) คุณไกรสร จันศิริ ประธานกรรมการ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี

31 มีนาคม 2559, กรุงเทพฯ– บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ทียู ผู้ผลิตและแปรรูปปลาทูน่าบรรจุกระป๋องรายใหญ่ที่สุดของโลก และเป็นเจ้าของแบรนด์อาหารทะเลชั้นนำทั่วโลก หลังจากที่ได้ริเริ่ม ความร่วมมือด้านวิจัยและพัฒนา กับมหาวิทยาลัยมหิดล ในการเปิดศูนย์นวัตกรรมแห่งแรก (Global Innovation Incubator - Gii) ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี 2557 ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัทใน เครือทั่วโลก รวมทั้งเป็นศูนย์กลางในการคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่จะนำมาพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิตและหมวดหมู่ผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อสร้างประโยชน์และคุณค่าให้กับผู้บริโภค และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยทำหน้าที่เชื่อมโยงทางวิทยาการโภชนาการสมัยใหม่ เข้ากับนวัตกรรมการผลิต เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาด และอุตสาหกรรมอาหารโลกอย่างยั่งยืน



บรรยายใต้ภาพ : (เรียงจากซ้ายไปขวา) คุณไกรสร จันศิริ ประธานกรรมการ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เยี่ยมชมส่วนต่อขยายศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยน







เพื่อเป็นการต่อยอดงานวิจัยของศูนย์นวัตกรรมฯ แห่งนี้ต่อไป ไทยยูเนี่ยนได้ทุ่มงบประมาณรวมกว่า 200 ล้านบาท เพื่อสร้าง “โรงงานต้นแบบ” สำหรับการค้นคว้าวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและแปรรูปที่ล้ำสมัยที่สุดในโลก ด้วยเครื่องมืออุปกรณ์ที่ออกแบบพัฒนาขึ้นโดยเฉพาะเพื่อการศึกษาวิจัยอาหาร อีกทั้งได้มีการขยายพื้นที่ศูนย์นวัตกรรมฯ เพิ่มอีกเท่าตัว การลงทุนในครั้งนี้ จะส่งเสริมการทำผลงานวิจัยให้กับนักวิทยาศาสตร์ ให้มีนวัตกรรมใหม่และผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มากยิ่งขึ้นอีกด้วย มั่นใจสร้างนวัตกรรมใหม่ที่เน้นคุณภาพและยั่งยืน โดยในงานแถลงข่าวดังกล่าวนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานในพิธี

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าว ว่า “ศูนย์นวัตกรรมแห่งนี้ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลักของบริษัทไทยยูเนี่ยน ที่ให้ความสำคัญกับการเพิ่มคุณค่าทางนวัตกรรม ซึ่งมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการผลักดันการเติบโตของรายได้กลุ่ม ให้สามารถบรรลุเป้าหมาย ที่ 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ การสร้างคุณค่านวัตกรรมมีบทบาทสำคัญในการดำเนินธุรกิจให้โดดเด่นและยั่งยืน การคิดค้นพัฒนานวัตกรรมจะช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขัน สร้างความแตกต่าง และเพิ่มศักยภาพให้กับอุตสาหกรรมอาหารของโลก

และเพื่อเป็นการต่อยอดงานวิจัยของศูนย์นวัตกรรมแห่งนี้ต่อไป เราได้จัดสรรงบประมาณรวมกว่า 200 ล้านบาท เพื่อขยายพื้นที่ศูนย์นวัตกรรมฯ เพิ่มอีกเท่าตัว และสร้าง “โรงงานต้นแบบ” เพื่อใช้ในศึกษางานวิจัยต่อไป พร้อมกันนี้ยังได้จับมือกับ 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำ ลงนามข้อตกลงเพื่อเพิ่มศักยภาพของบุคลากรด้วยการให้ทุนวิจัยแก่บุคลากรของ ไทยยูเนี่ยน ให้ศึกษาในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก โดยความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา 3 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โครงการร่วมมือในข้อตกลงดังกล่าว เป็นการสนับสนุนส่งเสริมให้บัณฑิต และนักวิทยาศาสตร์ของศูนย์นวัตกรรมฯ ได้มีการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพร่วมกัน สามารถศึกษาวิจัยจากประสบการณ์จริง และยังมีโอกาสเข้าทำงานกับไทยยูเนี่ยนต่อไปในอนาคตอีกด้วย”

ทางด้าน คณบดี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล – รองศาสตราจารย์ ดร. สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ กล่าวว่า “เป็นที่ทราบกันดีว่า มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสนับสนุนความร่วมมือด้านงานวิจัย และพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งการคิดค้นนวัตกรรมร่วมกับภาคเอกชน ซึ่งจะมีผลอย่างมากทั้งต่อคุณภาพชีวิต ความมั่นคงด้านอาหาร การสร้างงาน เศรษฐกิจ สังคม และต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยมุ่งเน้นการใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ในการสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมที่สำคัญมาอย่างต่อเนื่องในทุกด้าน ส่วนหนึ่งคือการส่งเสริมให้เกิดการศึกษาค้นคว้าแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ ระหว่างนักวิจัยในทุกระดับทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งการให้ความสำคัญต่อการสร้างและพัฒนาทรัพยากรบุคคล ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อตอบโจทย์แก้ปัญหาด้านต่างๆ ของทุกภาคส่วน การริเริ่มความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล โดยคณะวิทยาศาสตร์ กับเครือข่ายนักวิจัยของไทยยูเนี่ยนทั่วโลก ผ่านศูนย์นวัตกรรม Global Innovation Incubator (Gii) ของไทยยูเนี่ยน ตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2557 ที่ผ่านมานับว่ามีความก้าวหน้าเป็นลำดับ คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รวบรวมคณาจารย์และนักวิจัยผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ทั้งวิจัยพื้นฐานและวิจัยประยุกต์ เข้าร่วมทีมวิจัยที่ศูนย์นวัตกรรมฯ ดังกล่าว บุคลากรและนักศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมศึกษาวิจัยอย่างใกล้ชิดกับนักวิจัยของบริษัทฯ จึงนับได้ว่า GII เป็นศูนย์กลางการศึกษาค้นคว้านวัตกรรมด้านโภชนาการ ที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการสร้างประโยชน์ต่อสังคม ด้านสุขภาพอนามัย และสร้างคุณค่าต่อผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อผู้บริโภค

การลงทุนของบริษัทไทยยูเนี่ยน ในการสร้างโรงงานต้นแบบและขยายพื้นที่ศูนย์นวัตกรรมฯ จึงเป็นการดำเนินการที่สอดคล้อง และตอบสนองกับนโยบายของรัฐบาล ในการปฏิรูปประเทศไทยให้เป็น “เมืองนวัตกรรมอาหาร” หรือ “Food Innopolis” เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางของการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ทันสมัย มาใช้ในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่มีมูลค่าต่ออุตสาหกรรมอาหาร และจากการที่ หลักสูตรบัณฑิตศึกษาที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหลักสูตรนานาชาติที่ได้รับการยอมรับในมาตรฐานสากล คณะวิทยาศาสตร์ จึงได้เสนอให้มีการเริ่ม “โครงการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหารเพื่อตอบ โจทย์วิจัยของภาคเอกชนและสังคม” ผ่านการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาโทและปริญญาเอกร่วมกับภาคเอกชน บริษัทไทยยูเนี่ยนซึ่งเล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของ ประเทศ จึงได้สนับสนุนโครงการดังกล่าว และเป็นที่น่ายินดีว่าได้มีการขยายความร่วมมือโครการนี้ไปยังสถาบันการศึกษา ชั้นนำอีกสองสถาบันด้วย ความร่วมมือในการผลิตบัณฑิตระดับบัณฑิตศึกษา ระหว่างบริษัทไทยยูเนี่ยนกับมหาวิทยาลัยทั้งสามสถาบัน จึงนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ ไม่เพียงแต่ด้านการศึกษาวิจัยเท่านั้น แต่ยังประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับจุลภาคขององค์กร และระดับมหภาคของประเทศอย่างยั่งยืน เป็นโครงการที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ในอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้ทัดเทียมกับคู่แข่งในระดับโลก อันจะนำมาซึ่งความภาคภูมิใจต่อมหาวิทยาลัยมหิดล และสร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไปอีกด้วย”

ดร.ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ ผู้อำนวยการด้านนวัตกรรม บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าว ปิดท้ายว่า “ ผมมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างมากที่ศูนย์นวัตกรรมแห่งแรกของบริษัทไทยยูเนี่ยน โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล มีความก้าวหน้าเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลการวิจัยกับเครือข่ายของไทยยูเนี่ยนทั่วโลก เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งมีการจัดสรรงบประมาณกว่า 200 ล้านบาทในการสร้าง “โรงงานต้นแบบ” และขยายพื้นที่ในการทำการศึกษาวิจัยเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว โดยจะมีพื้นที่สำหรับงานวิจัยเพิ่มขึ้นอีก 600 ตารางเมตร จากพื้นที่เดิม 600 ตารางเมตร รวมมีพื้นที่ทั้งหมด 1,200 ตารางเมตรเพื่อรองรับนักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัยที่มากขึ้น จากเดิมที่มีนักวิทยาศาสตร์เข้ามาร่วมงานกับศูนย์นวัตกรรมของไทยยูเนี่ย นเกือบ 100 ท่าน จะสามารถขยายเพิ่มขึ้นอีกเป็นเท่าตัว การลงนามความร่วมมือ กับมหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อเพิ่มศักยภาพบุคลากรของไทยยูเนี่ยน และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาในการศึกษาวิจัยด้านอาหาร และ วิศวกรรม ซึ่งไทยยูเนี่ยน จะเป็นผู้สนับสนุนด้านเงินทุนวิจัย และสถานที่สำหรับงานวิจัย อาทิ ห้องแล็บของ

ศูนย์นวัตกรรมที่พร้อมด้วยอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยสำหรับการวิจัย และค้นคว้าด้านปลาทูน่าโดยเฉพาะ รวมถึงพื้นที่ของโรงงานต้นแบบที่ได้ขยายพื้นที่เพิ่มเติม อีกทั้งนักนักศึกษาทั้งปริญญาโทและปริญญาเอก ที่ได้รับทุนสนับสนุนผลงานวิจัย ยังจะมีโอกาสได้ร่วมงานกับบริษัทฯ ต่อไปในอนาคตอีกด้วย”